บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการบริหารงานบุคคลตามหลัก สัปปุริสธรรม ๗ ของผู้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ๕ ด้าน ได้แก่ ด้านการวางแผนงานบุคคล ด้านการจัดบุคคลเข้าปฏิบัติงาน ด้านการพัฒนาบุคคล ด้านธำรงรักษาบุคคล และด้านการประเมินผลการปฏิบัติของบุคคล เปรียบเทียบการบริหารงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ จำแนกตาม ตัวแปรต้น ได้แก่ เพศ อายุ วุฒิการศึกษา ตำแหน่ง และประสบการณ์ในการทำงาน ประชากรทั้งหมดที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ จำนวน ๘๘ รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถามที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้น และมีค่าความเชื่อมั่น ๐.๙๕ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) การทดสอบค่า (t. – Test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และการทดสอบเป็นรายคู่โดยวิธีการของเชฟเฟ่ (Scheffe’ post hoc comparison) การวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปของวินโดว์
ผลการวิจัยพบว่า
๑.ระดับการบริหารงานบุคคลของผู้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ทั้ง ๕ ด้านโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า อยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยเรียงลำดับคะแนนเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านการจัดบุคคลเข้าปฏิบัติงาน ด้านการพัฒนาบุคคล ด้านการธำรงรักษาบุคคล ด้านการวางแผนงานบุคคล และด้านการประเมินผลการปฏิบัติงานของบุคคล
๒.ผลการเปรียบเทียบของผู้บริหารและครูมี เพศ และตำแหน่ง แตกต่างกันมีความคิดเห็นในการบริหารงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ซึ่งตรงกับสมมติฐานที่ว่า ผู้บริหารและครูมี เพศ และตำแหน่ง แตกต่างกัน มีความคิดเห็นในการบริหารงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ แตกต่างกัน ส่วนผู้บริหารและครูมีอายุ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์ในการทำงาน แตกต่างกัน มีความคิดเห็นในการบริหารงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ซึ่งไม่ตรงกับสมมติฐานที่ว่า ผู้บริหารและครูมีอายุ วุฒิการศึกษา และประสบการณ์ในการทำงาน แตกต่างกัน มีความคิดเห็นในการบริหารงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ แตกต่างกัน
๓.ผลการเปรียบเทียบของผู้บริหารและครูตำแหน่งต่างกันมีความคิดเห็นในการบริหารงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ ๐.๐๕ ซึ่งตรงกับสมมติฐานที่ว่า ผู้บริหารและครูตำแหน่งต่างกันมีความคิดเห็นในการบริหารงานบุคคลตาม หลักสัปปุริสธรรม ๗ โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา แตกต่างกัน
ข้อเสนอแนะแนว
การศึกษาครั้งนี้ทำให้ได้ทราบการบริหารงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ ของผู้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารควรนำข้อเสนอแนะของครูมาร่วมพิจารณาหาผลดี ผลเสียในการบริหารงานบุคคลตามหลัก สัปปุริสธรรม ๗ ของผู้บริหารโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา ผู้บริหารควรนำ หลักสัปปุริสธรรม ๗ มาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานบุคคลตามความเหมาะสมกับงาน ผู้บริหารควรมีการส่งเสริมและให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องการบริหารงานบุคคลตามหลักสัปปุริสธรรม ๗
ดาวน์โหลด |