บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาการบริหารสถานศึกษาของผู้บริหารตามหลัก สัปปุริสธรรม ๗ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ๒) เปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการบริหารสถานศึกษาของผู้บริหารตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยจำแนกตามข้อมูลสถานภาพส่วนบุคคล ๓) ศึกษาปัญหาอุปสรรคและข้อเสนอแนะต่อการบริหารสถานศึกษาของผู้บริหารตาม หลักสัปปุริสธรรม ๗ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยศึกษากับกลุ่มตัวอย่างจำนวน ๓๗๑ คน ใช้ระเบียบวิธีวิจัยแบบผสม (Mix Method Research) โดยเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative Research) ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ผสมกับการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Resea) สำหรับการวิจัยเชิงคุณภาพผู้วิจัยใช้ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผู้สัมภาษณ์แบบโครงสร้าง (Structrue Interview) ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบโดยการทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test ) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA ) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างกันจึงทำการเปรียบเทียบรายคู่โดยมีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD ) และสรุปข้อมูลปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ โดยวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ได้
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ความคิดเห็นต่อการบริหารสถานศึกษาของผู้บริหารตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นเพศชาย จำนวน ๘๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๔๒.๙๐ ผู้มีอายุอยู่ ๒๑ – ๓๐ ปี จำนวน ๕๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๒๙.๖๐ ผู้มีตำแหน่งครู จำนวน ๑๖๘ คน คิดเป็นร้อยละ ๘๘.๙๐ ผู้มีระดับการศึกษาปริญญาตรี หรือเทียบเท่า จำนวน ๑๕๑ คน คิดเป็นร้อยละ ๗๙.๙๐ ผู้มีประสบการณ์การทำงาน ๕ ปี ขึ้นไป จำนวน ๑๐๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๖.๐๙
๒. ความคิดเห็นต่อการบริหารสถานศึกษาของผู้บริหารตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ อำเภอ แม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยภาพรวมมีความเห็นอยู่ในระดับมาก ( = ๓.๙๕) เมื่อพิจารณารายละเอียดแต่ละด้านพบว่า มีความเห็นอยู่ในระดับมากทุกด้าน
๓. เปรียบเทียบความคิดเห็นต่อการบริหารสถานศึกษาของผู้บริหารตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ โดยจำแนกตาม เพศ อายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่ง และประสบการณ์ในการทำงาน พบว่า ครูและเจ้าหน้าที่ที่มีเพศ ระดับการศึกษาและประสบการณ์การทำงาน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารสถานศึกษาของผู้บริหารตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ แตกต่างกัน ส่วนครูและเจ้าหน้าที่ที่มีอายุและตำแหน่ง มีความคิดเห็นเกี่ยวกับการบริหารสถานศึกษาของผู้บริหารตาม หลักสัปปุริสธรรม ๗ ไม่แตกต่างกัน
๔. ปัญหา อุปสรรคเกี่ยวกับการบริหารสถานศึกษาของผู้บริหารตามหลักสัปปุริสธรรม ๗ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ๑) ผู้บริหารใช้กฎระเบียบวินัยและเหตุผลมากเกินไป ๒) ผู้บริหารขาดเป้าหมายในการบริหารสถานศึกษา ๓) ผู้บริหารขาดความเชื่อมั่นในการบริหารสถานศึกษา ๔) ผู้บริหารใช้งบประมาณในการบริหารสถานศึกษาเกินงบประมาณที่มีอยู่ ๕) ผู้บริหารจัดทำโครงการไม่ถูกต้องกับจังหวะเวลา ๖) ผู้บริหารไม่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนในองค์กร ๗) ผู้บริหารใช้บุคลากรไม่เหมาะสมกับงาน
สำหรับข้อเสนอแนะ คือ ๑) ควรใช้หลักการและเหตุผลให้ตรงกับสถานการณ์ ๒) ควรมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการบริหารสถานศึกษา ๓) ควรสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง ๔) ควรใช้งบประมาณที่มีอยู่อย่างเหมาะสมกับโครงการ ๕) ควรจัดทำโครงการให้ตรงกับระยะเวลาที่เหมาะสม ๖) ควรมี มนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับคนทั้งภายในและภายนอกองค์กร ๗) ควรใช้บุคลากรให้เหมาะสมกับการงาน
ดาวน์โหลด |