บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์ ๒ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาโรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เขตธนบุรี ๒) เพื่อเปรียบเทียบระดับความคิดเห็นของนักเรียนต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เขตธนบุรี จำแนกตามปัจจัยพื้นฐาน
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปริมาณ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถาม กลุ่มตัวอย่างคือ นักเรียนที่กำลังเรียนในโรงเรียนวัดประยุรวงศ์ โรงเรียนวัดดาวคะนอง โรงเรียนวัดกระจับพินิจ โรงเรียนวัดวิเศษการ และโรงเรียนวัดกัลยาณ์ ที่กำลังเรียนอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาที่ ๔ – ๖ ในปีการศึกษา ๒๕๕๕ มีจำนวน ๒๙๗ คน การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมสำเร็จรูป สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ได้แก่ ค่าร้อยละ, ค่าเฉลี่ย, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน, t-test และ One-Way ANOVA
ผลของการวิจัยพบว่า
ความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา พบว่า นักเรียนมีความคิดเห็นในภาพรวมอยู่ในระดับสูง เมื่อพิจารณาความคิดเห็นในแต่ละด้าน ผลการวิเคราะห์ที่ได้ พบว่า ด้านการวัดและประเมินผลมีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ด้านสถานที่และสิ่งแวดล้อม ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านการใช้สื่อการเรียนการสอน ด้านการจัดกิจกรรมเสริม และมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านเนื้อหาของหลักสูตร
ผลการวิจัยในรายด้านตามความคิดเห็นของนักเรียน พบว่า หลักสูตรมีวัตถุประสงค์ชัดเจน มีความยึดหยุ่นเหมาะสมกับวัยของนักเรียน การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมีส่วนร่วม การใช้สื่อการเรียนการสอนสอดคล้องกับเนื้อหาเข้าใจง่าย การจัดสถานที่และสิ่งแวดล้อมเหมาะสมกับผู้เรียน ส่งผลให้เอื้อต่อการเรียนรู้ และการจัดกิจกรรมการเรียน มีวิทยากรพิเศษมาบรรยายเพิ่มเติมความรู้ โดยให้มีบุคคล องค์กรมีส่วนร่วมในการเรียนการสอน และการวัดผลและประเมินผลเป็นไปตามสภาพจริง
การวิเคราะห์ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของนักเรียน ตามปัจจัยพื้นฐาน เพศ อายุ และระดับชั้นเรียน พบว่า นักเรียนมีความคิดเห็นที่ไม่แตกต่างกัน ต่อการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนา ระดับประถมศึกษา
ดาวน์โหลด |