บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนต่อการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของนักเรียนต่อการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ใน ๕ ด้าน โดยกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาประกอบด้วย นักเรียน จำนวน ๒๗๘ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติหาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่า t-test และ F-test
ผลการวิจัยพบว่า
๑. นักเรียนมีความคิดเห็นต่อสภาพการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการทั้ง ๕ ด้าน คือ ด้านเนื้อหาวิชา ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านการใช้สื่อการเรียนการสอน และ ด้านการวัดผลและประเมินผล อยู่ในระดับมาก
๒. เปรียบเทียบคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ทั้ง ๕ ด้าน คือ ด้านเนื้อหาวิชา ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านกิจกรรมการเรียนการสอน ด้านสื่อการเรียนการสอน และ ด้านการวัดผลและประเมินผล อยู่ในระดับมากโดยรวมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่๐.๐๕
๓. นักเรียนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาอุปสรรคและแนวทางในการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการดังนี้ ๑) ปัญหาอุปสรรคด้านเนื้อหาวิชา คือ เด็กจำไม่ได้หมดเพราะเนื้อหามากเกินไปและพระอาจารย์ไม่ค่อยมีเวลามาสอน ๒) ปัญหาอุปสรรค ด้านการจัดการเรียนการสอน คือ นักเรียนบางคนขาดความตั้งใจในการเรียน ๓) ปัญหาอุปสรรคด้านกิจกรรมการเรียนการสอน คือ นักเรียนไม่ค่อยสนใจ เพราะกิจกรรมการเรียนการสอนขาดการสนับสนุน และนักเรียนบางคนไม่พร้อมที่จะทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนๆ ๔) ปัญหาอุปสรรคด้านสื่อการเรียนการสอน คือ ขาดอุปกรณ์สื่อในการนำเสนอที่ทันสมัย ขาดงบประมาณและบุคลากรในการใช้และผลิตสื่อการเรียนการสอน ๕) ปัญหาอุปสรรค ด้านการวัดผลและประเมินผล คือ ครูผู้สอนขาดการเตรียมพร้อมไม่มีเวลา มาสอนไม่ต่อเนื่อง ทำให้วัดผลไม่ได้ และถ้าจะวัดและประเมินผลยาก เพราะแบบทดสอบเด็กทำไม่ได้ จำเนื้อหาไม่ได้
๔. แนวทางในพัฒนาการจัดการเรียนการสอนธรรมศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ คือ ๑) ด้านเนื้อหาวิชา ควรสอนให้ตรงตามเนื้อหาวิชา ควรมีเวลาสอนมากกว่า ๑ ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ แต่ละชั้นควรสอนให้ครบตามเนื้อหาวิชานั้นๆ ๒) ด้านการจัดการเรียนการสอน วิธีการนำเข้าสู่บทเรียนของครูผู้สอน ควรใช้เทคนิคในการสอนที่หลากหลาย เพื่อให้ผู้เรียนมีทัศนคติที่ดี ไม่น่าเบื่อและสนุกสนานกับการเรียน ๓) ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนควรเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ให้ผู้เรียนมีทักษะการคิด วิเคราะห์ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ๔) ด้านสื่อการเรียนการสอน ควรนำสื่อทางเทคโนโลยีมาสอน และใช้สื่อให้ตรงหรือสอดคล้องกับเนื้อหาวิชา ๕) ด้านการวัดผลและประเมินผล ควรวัดและประเมินผลจากวิธีสอนและพฤติกรรมการเรียนรู้ของนักเรียน และควรวัดและประเมินผลภายในโรงเรียนก่อนการสอบจริง
ดาวน์โหลด |