บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาระดับการบริหารงานวิชาการตามหลักอิทธิบาท ๔ ของโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ๒) เพื่อเปรียบเทียบการบริหารงานวิชาการตามหลักอิทธิบาท ๔ ของผู้บริหารโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ที่มีปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคลต่างกัน โดยมีตัวแปรตาม ๕ ด้าน ได้แก่ ด้านการจัดการหลักสูตรแผนการเรียนรู้ ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านการจัดสื่อการเรียนการสอน ด้านการนิเทศ และด้านการวัดผลและประเมินผล การเปรียบเทียบการบริหารงานวิชาการตามหลักอิทธิบาท ๔ จำแนกตาม ตัวแปรต้น ได้แก่ เพศ อายุ วุฒิการศึกษา ตำแหน่ง และประสบการณ์ทำงาน ประชากรทั้งหมดที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ จำนวน ๒๗๓ คน เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสอบถามที่ผู้วิจัยได้สร้างขึ้น และมีค่าความเชื่อมั่น ๐.๙๐ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) การทดสอบค่าที (t - Test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One – way ANOVA) และการทดสอบเป็นรายคู่โดยวิธีการของเชฟเฟ่ (Scheffe’ post hoc comparison)
ผลการศึกษาพบว่า
๑. ระดับการบริหารงานวิชาการตามหลักอิทธิบาท ๔ ของโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ทั้ง ๕ ด้าน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า การบริหารงานวิชาการตามหลักอิทธิบาท ๔ ของโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช อยู่ในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านการจัดการเรียนการสอนอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา ด้านการจัดการหลักสูตรแผนการเรียนรู้ และด้านการวัดผลและประเมินผล ด้านการนิเทศ และด้านการจัดสื่อการเรียนการสอนอยู่ในระดับน้อยที่สุด
๒. ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ผู้บริหารที่มี เพศ อายุ วุฒิการศึกษา ตำแหน่งและประสบการณ์ทำงานต่างกัน มีการบริหารงานวิชาการตามหลักอิทธิบาท ๔ ไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ซึ่งไม่ตรงตามสมมติฐานที่ว่า ผู้บริหารและครูที่มีเพศ อายุ วุฒิการศึกษา ตำแหน่งและประสบการณ์ทำงานต่างกัน มีการบริหารงานวิชาการตามหลักอิทธิบาท ๔ แตกต่างกัน
ข้อเสนอแนะ
การศึกษาครั้งนี้ทำให้ทราบการบริหารงานวิชาการตามหลักอิทธิบาท ๔ ของโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ซึ่งควรยึดเป็นหลักในการวางแผนโครงการที่เกี่ยวข้องกับการบริหารการบริหารงานวิชาการตามหลักอิทธิบาท ๔ ของผู้บริหาร ผู้บริหารควรจัดอบรมสัมมนาเกี่ยวกับเทคนิคการเรียนการสอนให้กับครูอย่างไม่ย่อท้อต่อปัญหาและอุปสรรค, ควรสนับสนุนครูที่มีความคิดจดจ่อ หรือเอาใจฝักใฝ่ที่จะใช้แหล่งการเรียนรู้และภูมิปัญญาในท้องถิ่น, ควรจัดให้มีศูนย์สื่อการเรียนการสอนภายในโรงเรียนด้วยความเอาใจฝักใฝ่, ควรมีใจรักในการทำแผนการนิเทศอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง และควรจัดให้ครูสร้างเครื่องมือวัดผลให้ครอบคลุมเนื้อหาตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้โดยไม่ท้อถอยต่อความยากลำบาก
ดาวน์โหลด |