บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาบริบทการบริหารงานหลักพรหมวิหาร ๔ ของผู้อำนวยการสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครสวรรค์ ๒) เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นของพนักงานครูเทศบาลต่อการบริหารงานหลักพรหมวิหาร ๔ ของผู้อำนวยการสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครสวรรค์ โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓) เพื่อศึกษาแนวทางและข้อเสนอแนะในการบริหารงานหลักพรหมวิหาร ๔ ของผู้อำนวยการสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครสวรรค์
ดำเนินการวิจัยโดยใช้กลุ่มประชากร ได้แก่ พนักงานครูเทศบาลของโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ในปีการศึกษา ๒๕๕๕ จำนวน ๓๔๙ คน มีทั้งหมด ๘ โรงเรียน ผู้วิจัยได้เลือกมาเป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๑๘๓ คน เป็นกลุ่มศึกษาในงานวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือแบบสอบถาม (Questionnaire) ที่จัดทำโครงร่างขึ้นเองในขั้นต้นแล้วนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ความเที่ยงตรงของแบบสอบถามจำนวน ๕ ท่านการวิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าความถี่ ร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Arithmetic Means) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) เปรียบเทียบการทดสอบสมมติฐานโดยการทดสอบค่าที (t-test ), (F-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA ) เมื่อพบว่ามีความแตกต่างกันจึงทำการเปรียบเทียบรายคู่โดยใช้วิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD ) และสรุปข้อมูลแนวทางและข้อเสนอแนะดังรายละเอียดต่อไปนี้
ผลการวิจัยพบว่าสถานภาพของพนักงานครูเทศบาล ส่วนมาก เป็นเพศชาย จำนวน ๙๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๓๐ เมื่อพิจารณาถึง อายุ ส่วนมาก มีอายุระหว่าง ๓๑ - ๔๐ ปีจำนวน ๙๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๒.๕๐ และเมื่อพิจารณาถึงระดับการศึกษา พบว่า ส่วนมาก อยู่ในระดับปริญญาตรี มีจำนวน ๙๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๐.๓๐ ส่วนประสบการณ์ทำงาน พบว่าส่วนมาก มีประสบการณ์ทำงานในระดับ ๑ – ๕ ปี จำนวน ๑๐๒ คน คิดเป็นร้อยละ ๕๕.๗๐ และจำนวนพนักงานครูเทศบาลที่สุ่มตัวอย่างมาจากขนาดของโรงเรียนเทศบาลนครสวรรค์ พบว่าอยู่ในระดับโรงเรียนขนาดใหญ่จำนวน ๑๒๖ คน คิดเป็นร้อยละ ๖๘.๙๐
ระดับความคิดเห็นของการบริหารงานตามหลักพรหมวิหาร ๔ ของผู้อำนวยการสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครสวรรค์ โดยภาพรวม อยู่ในระดับมากทุกด้าน ( = ๔.๐๕) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน เรียงตามลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปน้อย พบว่า พนักงานครูเทศบาลมีความคิดเห็นต่อการบริหารงาน ด้านมุทิตาและด้านอุเบกขา อยู่ในระดับมาก ( = ๔.๑๒) รองลงมาคือด้านกรุณา อยู่ในระดับมาก ( = ๔.๐๓) และด้านเมตตา อยู่ในระดับมาก ( = ๓.๙๔)
ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของการบริหารงานตามหลักพรหมวิหาร ๔ ของผู้อำนวยการสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครสวรรค์ จำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคลเป็นการทดสอบสมมติฐาน โดยการวิเคราะห์ความแตกต่างระหว่าง ตัวแปรต้น ได้แก่ การจำแนกตามเพศ อายุ ระดับการศึกษา ขนาดของโรงเรียน พบว่าโดยภาพรวม ไม่แตกต่างกัน เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ที่มีระดับนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อพิจารณาการจำแนกตามประสบการณ์ทำงาน พบว่า มีความแตกต่างกันคือ ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีประสบการณ์ทำงานระหว่าง ๑ - ๕ ปี มีความคิดเห็นต่อการบริหารงานตามหลักพรหมวิหาร ๔ ของผู้อำนวยการสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครสวรรค์ น้อยกว่า กลุ่มที่มีประสบการณ์ทำงานระหว่าง ๑๑ - ๑๕ ปี ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .๐๕ เมื่อพิจารณาต่อไปพบอีกว่า กลุ่มที่มีประสบการณ์ทำงานระหว่าง ๑๑ - ๑๕ ปี มีความคิดเห็นต่อการบริหารงานตามหลักพรหมวิหาร ๔ ของผู้อำนวยการสถานศึกษาในโรงเรียนสังกัดเทศบาลนครนครสวรรค์ มากกว่า กลุ่มที่มีประสบการณ์ทำงานระหว่าง ๑๖ ปีขึ้นไป ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .๐๕
ดาวน์โหลด |