บทคัดย่อ
การประเมินโครงการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบองค์รวมบนฐานสมาธิบำบัด ของอโรคยศาล วัดคำประมง จังหวัดสกลนคร มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อประเมินปัจจัยนำเข้าของโครงการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบองค์รวมบนฐานสมาธิบำบัด ๒) เพื่อประเมินกระบวนการดำเนินงานของโครงการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบองค์รวมบนฐานสมาธิบำบัด๓) เพื่อประเมินผลผลิตของโครงการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบองค์รวมบนฐานสมาธิบำบัด และ ๔) ประเมินผลกระทบของโครงการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งแบบองค์รวมบนฐานสมาธิบำบัดของอโรคยศาล วัดคำประมง จังหวัดสกลนคร
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ประกอบไปด้วย ผู้บริหารโครงการ จำนวน ๑ รูป ผู้ให้การรักษา จำนวน ๔ คน จิตอาสา จำนวน ๑๗ คน ญาติผู้ป่วย จำนวน ๒๒ คน และผู้ป่วย จำนวน ๓๐ คน รวม ๗๔ รูป/คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม และแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
๑) ด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ โดยภาพรวม พบว่า ความพร้อมของบุคลากรในโครงการ ความพร้อมของผู้ป่วยและญาติต่อการรักษา ความพร้อมของอาคารสถานที่ ความเหมาะสมของปัจจัยเสริมและปัจจัยที่ใช้ในการรักษา ความเหมาะสมของการบริหารจัดการ และความพร้อมของสื่อ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความเหมาะสมและความเพียงพออยู่ในระดับมาก และผลจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารโครงการพบว่า อโรคยศาล วัดคำประมง มีบุคลากรในด้านการรักษาที่มีความรู้และความสามารถในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นแพทย์และพยาบาลชำนาญการจากโรงพยาบาล ประกอบกับนักศึกษาแพทย์และพยาบาลจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ สถานที่มีความเหมาะสมและเพียงพอกับความต้องการ เป็นผลมาจากการวางแผนล่วงหน้าไว้อย่างรอบคอบ รวมทั้งมีผู้ป่วยและจิตอาสาบริจาคบ้านพักสำหรับผู้ป่วยและญาติเพิ่มเข้ามาอีกด้วย งบประมาณต่าง ๆ ก็ได้มาจากผู้ป่วย ภาคประชาชน และภาคหน่วยงานที่เข้ามาศึกษาดูงาน ปัจจัยเสริมและปัจจัยที่ใช้ในการรักษาได้มีการเตรียมการเอาไว้ใช้อย่างเพียงพอ การบริหารจัดการมีความเหมาะสมดีมากทั้งงานทางด้านการประชาสัมพันธ์โครงการ การทำฐานข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต และติดตามการรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง ส่วนทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความเหมาะสมดีมากเนื่องจากมีความทันสมัยและพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
๒) ด้านกระบวนการการดำเนินงานของโครงการ โดยภาพรวม พบว่า กระบวนการก่อนการรักษา กระบวนการขณะรักษา กระบวนการหลังการรักษา ความคิดเห็นต่อปัญหาและอุปสรรค มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด และผลจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารโครงการ พบว่า กระบวนการก่อนการรักษา มีความเหมาะสมดีโดยมีการวินิจฉัยโรคร่วมกับประวัติการรักษาของผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความแน่ชัดที่จะเตรียมความพร้อมในการรักษาต่อไป กระบวนการขณะรักษามีความเหมาะสมดีมากเนื่องจากได้มีการติดตามและประเมินผลการรักษาผู้ป่วยตามช่วงเวลาอย่างสม่ำเสมอ และให้ความใส่ใจการดูแลผู้ป่วยทางด้านจิตใจอย่างใกล้ชิด มีบริการจัดส่งยาให้กับผู้ป่วยที่เคยเข้าร่วมรับการรักษา พร้อมกับมีการจัดงานศพให้กับผู้ป่วยที่เสียชีวิตในช่วงขณะรับการรักษาด้วย กระบวนการหลังการรักษาจึงมีความเหมาะสมดีมาก
๓) ด้านผลผลิตของโครงการ โดยภาพรวม พบว่า ผลการรักษาผู้ป่วยและความพึงพอใจต่อกิจกรรมการรักษาและการดำเนินงานในด้านต่าง ๆ อยู่ในระดับมากที่สุด และผลจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารโครงการ พบว่า ผลการบำบัดรักษาทั้งในส่วนของร่างกายและจิตใจอยู่ในระดับดีมากทั้งนี้ทางสถานบำบัดได้เน้นการออกกำลังกาย การควบคุมอาหาร การสวดมนต์ การทำสมาธิ การฟังธรรมบรรยาย ช่วยส่งเสริมต่อผลการรักษาของผู้ป่วยได้เป็นอย่างดีและผู้ป่วยก็มีความพึงพอใจต่อการรักษาด้วยเช่นกัน
๔) ด้านผลกระทบของโครงการ โดยภาพรวม พบว่า การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยและญาติ และความสนใจในการเป็นจิตอาสาช่วยเหลือโครงการ อยู่ในระดับมากที่สุด และผลจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารโครงการ พบว่า ผู้ป่วยมีความเข้าใจในการดูแลตนเองและสามารถนำความรู้บอกต่อให้กับผู้ป่วยรายอื่นได้ พร้อมกับมีความตั้งใจที่จะทำตนเป็นจิตอาสาเมื่อมีโอกาสให้กับอโรคยศาล วัดคำประมง เพื่อตอบแทนพระคุณโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน
ดาวน์โหลด |