หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาบุญโชติ ปุญฺญโชติ (อินทจักร์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๑ ครั้ง
การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องการระลึกชาติในพระสุตตันตปิฎก (๒๕๔๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาบุญโชติ ปุญฺญโชติ (อินทจักร์) ข้อมูลวันที่ : ๒๑/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาบุญช่วย สิรินฺธโร
  รศ.ดร.บุณย์ นิลเกษ
  ดร. พิสิฏฐ์ โคตรสุโพธิ์
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๖
 
บทคัดย่อ

     การศึกษาเชิงวิเคราะห์เรื่องการระลึกชาติในพระสุตตันปิฎกนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบหลักการและวิธีการของการระลึกชาติในแนวทางพระพุทธศาสนาอย่างเป็นระบบและชัดเจน อีกทั้งเพื่อนำเอาหลักการและวิธีการการระลึกชาติที่ได้จากการศึกษาวิจัยนี้ ไปเป็นแนวทางในการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอันเป็นการส่งเสริมการปฏิบัติและส่งเสริมศรัทธาของพระพุทธศาสนิกชนให้มั่นคงยิ่งขึ้น
     งานวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร โดยศึกษาวิเคราะห์เนื้อหาจากพระไตรปิฎก ฉบับภาษาบาลีและฉบับภาษาไทย ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นหลัก และศึกษาค้นคว้าเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น อรรถกถาและงานเขียนของนักวิชาการทางพระพุทธศาสนาประกอบ และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยวิธีวิเคราะห์เชิงตรรกะและนำเสนอผลการศึกษาในเชิงบรรยาย
     ผลของการวิจับพบว่า
     การระลึกชาติ ตามแนวทางของพระพุทธศาสนาเป็นปรากฏการณ์ทางจิตที่มนุษย์สามารถจะระลึกถึงอดีตชาติของตนได้โดยบำเพ็ญสมาธิจนจิตสงบนิ่งถึงขั้นบรรลุปุพเพนิสานุสสติญาณ คือความรู้เป็นเครื่องระลึกได้ถึงขันธ์ที่อาศัยอยู่ในก่อนหรือระลึกชาติได้ แนวคิดพื้นฐานสำคัญเกี่ยวกับการระลึกชาติของพระพุทธศาสนามีความสัมพันธ์กับคำสอนหลัก ๒ ประการ คือ สังสารวัฏ และ กฎแห่งกรรม เพราะการเวียนว่ายตายเกิดเป็นสิ่งที่เป็นไปด้วยอำนาจของกรรม ลักษณะของการระลึกชาติ เป็นลักษณะความสามารถของบุคคลที่สามารถระลึกย้อนอดีตชาติได้ ตั้งแต่หนึ่งชาติไปจนนับเป็นแสนๆ ชาติ ทั้งสามารถที่จะจดจำรายละเอียดของการเป็นอยู่ ความสุข ความทุกข์ ของตนในแต่ละชาติได้อย่างชัดเจน
     วิธีการสร้างความสามารถในการระลึกชาติ ตามหลักพระพุทธศาสนามี ๕ ขั้นตอน คือ ๑. การประกอบด้วยอริยสีลขันธ์ อริยอินทรีย์สังวร อริยสติสัมปัชชัญญะ และอริยสันโดษ ๒. การอยู่ในเสนาสนะอันเงียบสงัดที่เหมาะกับการบำเพ็ญเพียร ๓. การตั้งปณิธานมุ่งมั่นบำเพ็ญเพียรทางจิต ๔. การปฏิบัติฝึกจิตตามหลักธรรมเพื่อการระลึกชาติ และ ๕. การบำเพ็ญเพียรทางจิตจนเป็นสมาธิแน่วแน่สามารถนิวรณ์และบรรลุธรรมชั้นสูงตามลำดับจนถึงปุพเพนิวาสานุสสติญาณ
     ความเชื่อในการระลึกชาติ มีอิทธิพลอย่างมากต่อการกำหนดพฤติกรรมของบุคคลส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปในทางที่ดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีงาม พัฒนาตนเองได้ทั้งด้านสติปัญญา ด้านจิต ดำเนินชีวิตประกอบด้วยสุจริตธรรมซึ่งจะเป็นเหตุให้เกิดประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเองและสังคมโดยส่วนรวม
     บุคคลทั่วไป สามารถประยุกต์วิธีการปฏิบัติเพื่อการระลึกชาติมาใช้ในชีวิตประจำวันได้นับตั้งแต่การรักษาศีล การฝึกให้เกิดวิเวก การตั้งจิตปณิธาน และการฝึกใช้สติสัมปัชชัญญะ ตามแนวสติปัฏฐานในการทำกิจกรรมต่างๆ ผลที่จะได้รับก็คือ การผ่อนคลาย หายเครียด ส่งเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ดำรงชีวิตอย่างมีสติกำกับ ย่อมประสบความสุข ความสงบ มีชีวิตที่มีคุณภาพ กอรปด้วยคุณธรรม คุณงาม และความดี
     งานวิจัยนี้ เป็นการศึกษาในเชิงวิชาการภาคทฤษฎีจากเอกสารสำคัญของพระพุทธศาสนาจึงเป็นเนื้อหาเชิงวิชาการเท่านั้น แต่เนื้อหาที่แท้จริงของการระลึกชาติได้นั้นเป็นเรื่องของการปฏิบัติสามารถพิสูจน์ผลได้ด้วยการปฏิบัติเท่านั้น
     อย่างไรก็ตาม หากผู้สนใจในเรื่องนี้ต้องการที่จะศึกษาต่อให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อไป ก็อาจจะศึกษาต่อในเชิงปฏิบัติได้ โดยนำเอาผลการวิจัยในครั้งนี้ไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติตนบำเพ็ญเพียร เพื่อพิสูจน์ความจริงด้วยตนเอง หรือ ศึกษาในเชิงพฤติกรรมศาสตร์ เพื่อให้ทราบว่า ความเชื่อเรื่องการระลึกชาติได้นั้น มีส่วนส่งเสริมพฤติกรรมด้านของบุคคลและสังคมได้มากน้อยเพียงใดเป็นต้น

Download : 254628.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕