วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาวรรณกรรมของไม้ เมืองเดิม อิทธิพลของพระพุทธศาสนาที่มีต่อวรรณกรรมของไม้ เมืองเดิม และอิทธิพลของวรรณกรรมของไม้ เมืองเดิม ที่มีต่อสังคมไทย จากการศึกษาพบว่าวรรณกรรมของไม้ เมืองเดิม มีทั้งหมด ๓๘ เรื่อง เป็นเรื่องขนาดยาว ๑ เรื่องได้แก่ "ขุนศึก" อีก ๓๗ เรื่องเป็นเรื่องขนาดสั้นจบในเล่ม แบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท คือ แนวลูกทุ่ง แนวอิงประวัติศาสตร์ และแนวตลกขบขัน ตัวละครในวรรณกรรมของไม้ เมืองเดิม ก็นิยมสร้างวัดเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเสมอโดยนำเอาวัดที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์เช่น วัดโพธิ์เก้าต้น เป็นต้น มาเป็นฉาก ทว่าในบางเรื่องก็เพียงแต่สมมติวัดขึ้นมาเท่านั้นมิได้มีอยู่จริง เช่น วัดหัวไผ่คุ้ง เป็นต้น ซึ่งในแต่ละวัดไม้ เมืองเดิมจะกล่าวถึงสิ่งก่อสร้างภายในวัดด้วยเช่น โบสถ์ เจดีย์ และกุฏิ ตลอดจนกระทั่งป่าช้าด้วย โดยวัดเหล่านั้นมีบทบาทที่ต่างกันบ้างเป็นสถานศึกษา บ้างเป็นคลังพัสดุที่เก็บของ บ้างเป็นที่ประกอบพิธีกรรม เป็นสถานบันเทิง หรือเป็นสโมสรที่พบปะของชาวบ้านในท้องเรื่องนั้นๆ ไม้ เมืองเดิม กล่าวถึงศาสนพิธีที่ชาวบ้านปฏิบัติกันในวรรณกรรม เช่น วันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันธรรมสวนะ ตรงกับที่พุทธศาสนิกชนไทยปฏิบัติกันอยู่ในชีวิตจริงอันเป็นการสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตไทยผ่านทางวรรณกรรม หลักธรรมในพระพุทธศาสนาไม้ เมืองเดิม กล่าวว่าโลกียธรรมเป็นสิ่งที่ทุกคนจะต้องประสบไม่มีใครหนีพ้น แต่ทว่าโลกุตรธรรมนั้นไม้ เมืองเดิม สื่อตามความเข้าใจของชาวบ้านทั่วไปที่คิดว่า "นิพพาน" นั้น ปัจจุบันไม่มีใครสามารถบรรลุได้แล้ว ซึ่งเป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากความจริง อิทธิพลของวรรณกรรมของไม้ เมืองเดิมที่มีต่อสังคมไทยจากการศึกษาพบว่า นับตั้งแต่ "แผลเก่า" วางตลาดเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นครั้งแรกซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวรรณกรรมแนวใหม่ คือ แนวลูกทุ่งซึ่งไม่เคยมีใครทำมาก่อนในวงการวรรณกรรมไทย บทเพลงอมตะ เช่น ขวัญเรียม แสนแสบ หรือชายสามโบสถ์ ที่ยังคงเป็นที่นิยมของผู้ฟังจนกระทั่งปัจจุบัน ก็ถือกำเนิดจากวรรณกรรมของไม้ เมืองเดิม ทั้งสิ้น ผลงานเรื่อง "ขุนศึก" เป็นวรรณกรรมเรื่องแรกของไม้ เมืองเดิม ที่ผู้กำกับไปสร้างเป็นละครโทรทัศน์ ปัจจุบันยังคงมีละครโทรทัศน์ที่สร้างจากวรรณกรรมของไม้ เมืองเดิม ให้ได้รับชมกันอยู่อย่างต่อเนื่อง ในวงการภาพยนตร์ไทย ผลงานเรื่อง "แผลเก่า" เป็นผลงานชิ้นที่ ๒ ที่ผู้กำกับนำเอาวรรณกรรมมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ ต่อจากเรื่อง "ลูกกำพร้า" ของ ป.อินทรปาลิตที่สร้างเป็นเรื่องแรก