บทคัดย่อ
จากการศึกษาเรื่องบทบาทของพระสงฆ์ในการส่งเสริมการลดความขัดแย้งตามแนวทางพระพุทธศาสนา โดยมีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาความหมายของความขัดแย้งและการบริหารความขัดแย้ง ๒) เพื่อศึกษาวิธีการจัดการความขัดแย้งจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อศึกษาบทบาทและวิธีการของพระสงฆ์ในการส่งเสริมลดความแย้งตามแนวทางพระพุทธศาสนา
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร โดยศึกษาค้นคว้าทางเอกสารค้นคว้าและรวบรวมข้อมูลมาจากพระไตรปิฎกฉบับภาษาไทย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และรวบรวมข้อมูลมาจากเอกสารที่เป็นตำราวารสาร บทความ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องโดยศึกษาจากแหล่งข้อมูลต่างๆเพื่อนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมลดความขัดแย้งตามแนวทางพระพุทธศาสนา
ผลการวิจัยในครั้งนี้ พบว่า
๑. ความหมายของความขัดแย้งและการบริหารความขัดแย้งความหมายของความขัดแย้ง หมายถึง การไม่ทำตามฝ่าฝืน ขืนไว้ และ “แย้ง” หมายถึง ไม่ตรงหรือลงรอยเดียวกัน ต้านไว้ ทานไว้ เพราะความขัดแย้งเป็นความรู้สึกนึกคิด หรือการกระทำที่ขัดกันทั้งภายในตนเอง ระหว่างบุคคล และระหว่างกลุ่ม ซึ่งมีผลทำให้เกิดการแข่งขัน หรือการทำลายกัน ส่วนความหมายของความขัดแย้งในทัศนะพระพุทธศาสนา จะไม่พบคำในภาษาบาลีที่แปลว่า “ความขัดแย้ง”โดยตรง แต่จะมีคำอื่นในภาษาบาลีที่มีความหมายในลักษณะที่เป็นความขัดแย้งหรือบ่งบอกถึงความขัดแย้ง ซึ่งสามารถที่จะจัดกรอบเกี่ยวกับประเด็นที่ว่าด้วยความหมายของความขัดแย้ง ในมิติของพระพุทธศาสนาได้ ๒ ประเด็นหลักๆ คือความขัดแย้งในแง่ของธรรม และในแง่ของวินัย
๒. วิธีการจัดการความขัดแย้งจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา กรณีทั่วๆ ไปนั้นเราสามารถที่จะดำเนินการได้ดังต่อไปนี้ คือ (๑) กรณีความขัดแย้งในเรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารจะต้องแก้ด้วยการสร้างโอกาสและให้การศึกษาอย่างถูกวิธี ทราบข้อมูลรอบด้านของปัญหาที่เกิดขึ้น(๒) กรณีความขัดแย้งเนื่องจากการใช้อำนาจช่วงชิง การแก้ไขปัญหาประเภทนี้มักจะใช้กรณีการส่งฑูตไปเพื่อเจรจา หรือจะต้องอาศัยภาวะผู้นำของผู้นำไปเป็นผู้ให้ข้อมูลหรือข้อเท็จจริง (๓) ความขัดแย้งในด้านการตีความ เป็นความขัดแย้งที่เกิดจากการตีความเรื่องใดเรื่องหนึ่งแตกต่างกัน เช่น กรณีการตีความเรื่องพระวินัยของพระธรรมธรกับพระวินัยธร แห่งเมืองโกสัมพี ซึ่งในเรื่องดังกล่าวเป็นแค่กรณีเล็กคือเรื่องการราดน้ำชำระห้องน้ำก็ได้กลายมาเป็นปัญหาเนื่องจากพระธรรมธรและพระวินัยธรตีความเรื่องนั้นแตกต่างกัน เป็นต้น
๓. บทบาทและวิธีการของพระสงฆ์ในการส่งเสริมลดความแย้งตามแนวทางพระพุทธศาสนา พระสงฆ์มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติ ๒ ประการ คือ บทบาทหรือหน้าที่ต่อตนเอง และ บทบาทหรือหน้าที่ต่อผู้อื่น พระสงฆ์จึงมีบทบาทและวิธีการของพระสงฆ์ในส่งเสริมลดความขัดแย้งตามแนวทางพระพุทธศาสนา ใช้บทบาทตามภาวะที่มีอยู่เข้าไปมีส่วนร่วมการดำเนินกิจกรรมกับพระสงฆ์และประชาชน ตามภารกิจของพระสงฆ์ใน ๖ ด้านได้แก่ ด้านการปกครอง การศาสนศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่ การสาธารณูปการ การสาธารณสงเคราะห์ โดยสื่อกลางระหว่างศาสนจักรและอาณาจักร เพื่อการดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน นอกจากนั้นใช้วิธีการส่งเสริมลดความขัดแย้งโดยทำหน้าที่สั่งสอนประชาชนให้ปฏิบัติตามหลักผาสุกวิหารธรรม มีเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนธรรม เพื่อดำเนินชีวิตในสังคมอย่างมีเกียรติและความสุขตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ย่อมก่อให้เกิดความสุขแก่ประชาชนนานัปการ ปัญหาต่างๆก็ลดน้อยลงไปเพราะอาศัยกำลังของพระสงฆ์
ดาวน์โหลด
|