หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระอธิการทัศเทพ ฐานกโร (โลสันตา)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๓ ครั้ง
ศึกษาโอปปาติกะในพระพุทธศาสนาเถรวาทที่มีความสัมพันธ์กับความเชื่อผีของชาวผู้ไท อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม
ชื่อผู้วิจัย : พระอธิการทัศเทพ ฐานกโร (โลสันตา) ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูภาวนาโพธิคุณ, พธ.บ.(ศาสนา), M.A.(Phil.), M.A.(Pol.),M.Phil., Ph.D.(Phil.)
  พระมหาประมวล ฐานทตฺโต, ป.ธ.๕, พธ.บ.(ภาษาไทย),M.A.(Ling), M.A., Ph.D. (Pali & Bud)
  .
วันสำเร็จการศึกษา :
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                  วิทยานิพนธ์เล่มนี้  มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ  (๑) เพื่อศึกษาโอปปาติกะในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับโอปปาติกะของชาวผู้ไทอำเภอเรณูนคร (๓) เพื่อศึกษาความสัมพันธ์เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผีของชาวผู้ไทกับพระพุทธศาสนา ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพจากเอกสาร และจากการสัมภาษณ์กลุ่มชาวภูไท โดยสรุปผลการศึกษามีดังต่อไปนี้

                        โอปปาติกะในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า โอปปาติกะหมายถึง สัตว์ที่เกิดในภูมิหรือแดนของนรกได้แก่เปรต, อสุรกาย  และสวรรค์รวมถึงพรหมโลกด้วย  ในคัมภีร์พระไตรปิฎก มีข้อความมากมาย ทั้งในด้านลักษณะและประเภท พระพุทธเจ้าเองก็ตรัสถึงนรก  และสวรรค์ทุกครั้งที่ทรงสรุปข้อสนทนาของพระองค์ เป็นการแสดงบทลงโทษปรามไม่ให้บุคคลทำความชั่ว และแสดงให้เห็นคุณค่าของการทำความดี พรรณนาลักษณะของนรกและสวรรค์ไว้อย่างชัดเจน

                        ความเชื่อและพิธีกรรมเกี่ยวกับโอปปาติกะของชาวผู้ไท อำเภอเรณูนคร พบว่า ชาวผู้ไท อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ที่มีวิถีชีวิตและคติความเชื่อต่อโอปปาติกะหรือผีอย่างเป็นระบบ กล่าวคือ มีความเชื่อว่า โอปปาติกะหรือผีนั้น ก็เป็นอยู่เหมือนกับมนุษย์เพียงแต่ว่า ตายไปแล้ว ไม่ได้มีชีวิตเหมือนมนุษย์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม การที่จะสื่อกับโอปปาติกะหรือผีได้นั้น ผู้ติดต่อที่เรียกว่าหมอเหยาและเจ้าจ้ำ ก็จะเข้าใจในภาษาที่ใช้สื่อสารกัน ว่ามีวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วปฏิบัติตนตามคำแนะนำของหมอเหยาหรือเจ้าจ้ำคนนั้น ในความเชื่อและพิธีกรรมการรำผีฟ้าของหมอเหยา  จัดเป็นพิธีกรรมที่ถ่ายโยงอุดมการณ์ของความเชื่อของคนในสังคม ในเรื่องของจารีต ประเพณี และข้อห้าม (ฮีต คลอง ข้อคะลำ) ไว้อย่างลงตัวและรักษาไว้อย่างมั่นคง แน่นแฟ้น ท่ามกลางบริบทของสังคมและวัฒนธรรมตะวันตกที่ขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา โดยผูกความเชื่อเรื่องผี วิญญาณ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นการกระตุ้นให้คนในชุมชนเกิดความรักและหวงแหนในวัฒนธรรมของตน อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของคนในชุมชนต่อไป

                        ความสัมพันธ์เกี่ยวกับความเชื่อผีของชาวผู้ไทกับพระพุทธศาสนา  พบว่า  ชาวผู้ไท อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมและประเพณีของตนเป็นการเฉพาะ คือ การนับถือโอปปาติกะหรือผีมาแต่บรรพบุรุษเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว โดยมีคติความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับโอปปาติกะ ได้แก่ การทำบุญตามฮีตที่ ๗ คือ บุญชำระหรือบุญเดือนเจ็ด  ทำบุญในเดือนเก้าหรือบุญข้าวประดับดิน ทำบุญในเดือนสิบหรือบุญข้าวสาก  และยังทำทำบุญแจกข้าวเหมือนพื้นที่อื่นๆ นอกนั้นก็ยังมีคติความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม  ส่วนหลักศรัทธาของชาวผู้ไท ประกอบด้วย  กัมมสัทธา (เชื่อกรรมและกฎแห่งกรรม)  วิปากสัทธา (เชื่อผลของกรรม)  กัมมัสสกตาสัทธา  (เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตน)  ตถาคตโพธิสัทธา (เชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า) ทั้งนี้  ชาวผู้ไท เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความกตัญญูต่อบรรพบุรุษเป็นอย่างดีดังจะเห็นได้ในการทำบุญอุทิศแก่โอปปาติกะในแต่ละโอกาสดังกล่าวแล้ว เช่น บุญแจกข้าว เป็นต้น

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕