หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระศุภกร สิทฺธิญาโณ (สิมมา)
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๐ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมในวรรณกรรมคำสอนของพระราชประสิทธิคุณ (สุนันท์ สุภาจาโร)
ชื่อผู้วิจัย : พระศุภกร สิทฺธิญาโณ (สิมมา) ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระกิตติญาณโสภณ, ป.ธ.๕, ศน.บ., M.A ,Ph.D.(Bud.)
  พระมหามิตร ฐิตปญฺโญ, ป.ธ.๔ , พธ.บ., พธ.ม.Ph.D. (Bud.)
  ดร.ประยูร แสงใสป.ธ.๔, พ.ม., พธ.บ., M.A.(Ed.), P.G.Dip. in Journalism, Ph.D. (Ed.)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                        วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมในวรรณกรรมคำสอนของ                  พระราชประสิทธิคุณ (สุนันท์  สุภาจาโร) มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาชีวประวัติ และผลงานด้านวรรณกรรมคำสอนของพระราชประสิทธิคุณ (สุนันท์ สุภาจาโร) (๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมในวรรณกรรมคำสอนของพระราชประสิทธิคุณ (สุนันท์ สุภาจาโร) (๓)  เพื่อศึกษาคุณค่าและความสำคัญของวรรณกรรมคำสอนของพระราชประสิทธิคุณ (สุนันท์ สุภาจาโร)

ผลจากการศึกษา พบว่า พระราชประสิทธิคุณ (สุนันท์ สุภาจาโร) เป็นพระสงฆ์ที่มีความรู้ความสามารถโดดเด่นอีกรูปหนึ่ง ในการเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปสู่ประชาชน เนื่องจากท่านเป็นรัตตัญญูที่เดินทางผ่านกาลเวลาและเหตุการณ์ต่างๆมาอย่างยาวนาน และเป็นพหูสูตที่ทรงไว้ซึ่งองค์ความรู้และภูมิปัญญาต่างๆ มากมาย อันเกิดจากการเรียนรู้ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ต่างๆ แล้วถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาเหล่านั้น ผ่านการประพันธ์วรรณกรรมคำสอนเป็นภาษาถิ่นอีสาน มีทั้งที่เป็นวรรณกรรมร้อยแก้วและที่เป็นวรรณกรรมร้อยกรอง มีอยู่ ๕ ประเภท คือ                 (๑) วรรณกรรมประวัติศาสตร์ ตำนาน เช่น นิทานปู่สังกะสาย่าสังกะสี เป็นต้น (๒) วรรณกรรมคำสอน เช่น คำสอนเรื่องความกตัญญู ความขยันหมั่นเพียร เป็นต้น( ๓) วรรณกรรมนิทาน เช่น สังข์ศิลป์ชัย ขูลูนางอั้ว เป็นต้น (๔) วรรณกรรมพระพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติ ตอนว่าด้วย พระโพธิสัตว์เสด็จลงปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระนางสิริมหามายา เป็นต้น (๕) วรรณกรรมเบ็ดเตล็ด เช่น ปริศนาธรรม เป็นต้นโดยการประพันธ์ในหลายรูปแบบ เช่น ลำชิงชู้ กลอนสรภัญญ์ ลำทางยาว เต้ย กาพย์เซิ้ง กลอนแปด เป็นต้น

                        หลักธรรมที่พบในวรรณกรรมคำสอนของท่าน มีทั้งหลักคำสอนด้านจริยธรรม เช่น การพึ่งตนเอง สอนไม่ให้ประมาทในชีวิต สอนให้หมั่นทำบุญเสริมสร้างบารมี อบรมประชาชนให้เป็นคนดีห่างไกลยาเสพติด ความสามัคคี และยังพบหลักคำสอนด้านสัจธรรม เช่น อริยสัจ ๔             ไตรลักษณ์ ๓ ขันธ์ ๕ สติปัฏฐาน ๔ กรรมและ กฎแห่งกรรม และหลักคำสอนด้านความรู้และภูมิปัญญาผ่านการปริวรรต โดยการปริวรรตจากวรรณกรรมคำสอนต้นฉบับเดิมที่เป็นอักษรไทยน้อยและอักษรธรรมมาเป็นภาษาถิ่นอีสาน เช่น เรื่อง ธรรมดาสอนโลก ท้าวกำพร้าจันทร์สมุทรและ ชนะสันทะชาดก เป็นต้น จึงเป็นการสืบต่อองค์ความรู้และภูมิปัญญาที่แฝงอยู่ในวรรณกรรมเหล่านั้นให้คงอยู่สืบไป

                        คุณค่าที่พบในวรรณกรรมคำสอนของท่านมีหลายๆ ด้านด้วยกัน เช่น ด้านผดุงสังคมให้เข้มแข็ง ด้านอนุรักษ์และส่งเสริมองค์ความรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านส่งเสริมจิตวิญญาณ  ด้านเผยแผ่หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา นอกจากนี้ ยังมีความสำคัญในแง่ต่างๆ เช่น ความสำคัญในแง่ศาสนา เป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญา สะท้อนการดำรงชีวิตของคนในท้องถิ่น เป็นการอบรมสั่งสอน ถ่ายทอดประวัติศาสตร์และความสำคัญในแง่ของการศึกษาอีกด้วย

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕