หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระเมธาวี อาภสฺสโร (ฉัตรวิไล)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๑ ครั้ง
การศึกษาเชิงวิเคราะห์ธุดงควัตรในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระเมธาวี อาภสฺสโร (ฉัตรวิไล) ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสมุห์เฉวียน กตปุญฺโญ, พธ.บ. (การสอนสังคมศึกษา), M.A. (Soc., Eco.), Ph.D. (Soc.)
  ผศ.สุพิมล ศรศักดา, พธ.บ. (การสอนสังคมศึกษา), กศ.ม. (บริหารการศึกษา)
  ดร.เรืองเดช เขจรศาสตร์, พธ.บ. (ปรัชญา), ศษ.ม. (บริหารการศึกษา), พบ.ม. (พัฒนาสังคม), ปร.ด. (ไทศึกษา)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์นี้เป็นการศึกษาเชิงวิเคราะห์ธุดงควัตรในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท          มีวัตถุประสงค์ คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักการธุดงควัตรที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาการปฏิบัติตามหลักธุดงควัตรของพระสาวกในครั้งพุทธกาล  และ ๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้หลักธุดงควัตรในการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน โดยการใช้วิธีศึกษาวิจัยจากเอกสาร และลงภาคสนาม

ผลการวิจัยพบว่า

ธุดงควัตรที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทมีทั้งหมด ๑๓ ข้อ ๔ หมวด คือ ๑) หมวดที่เกี่ยวกับจีวร มีใช้เพียงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรและใช้เพียงไตรจีวรเป็นวัตร ๒) หมวดที่เกี่ยวกับบิณฑบาต มีเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตตามลำดับบ้านเป็นวัตร นั่งฉัน ณ อาสนะเดียวเป็นวัตร ฉันเฉพาะในบาตรเป็นวัตรและห้ามภัตตาหารอันนำมาถวายเมื่อภายหลังเป็นวัตร  ๓) หมวดที่เกี่ยวกับเสนาสนะ มีอยู่ป่าเป็นวัตร อยู่โคนไม้เป็นวัตร อยู่ในที่แจ้งเป็นวัตร อยู่ป่าช้าเป็นวัตรและอยู่ในเสนาสนะอันท่านจัดให้อย่างไรเป็นวัตร และ ๔) หมวดที่เกี่ยวกับความเพียร มีนั่งเป็นวัตร

พระสาวกในครั้งพุทธกาลที่ปฏิบัติธุดงควัตร มีดังนี้ พระมหากัสสปเถระปฏิบัติใช้เพียง        ผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เที่ยวบิณฑบาตเป็นประจำเป็นวัตรและอยู่ป่าเป็นวัตร พระอัญญาโกณฑัญญะ  พระอนุรุทธเถระและพระเรวตขทิรวนิยเถระปฏิบัติอยู่ป่าเป็นวัตร พระสุภูติเถระปฏิบัติอยู่ในเสนาสนะอันท่านจัดให้อย่างไรเป็นวัตรและปฏิบัติอยู่ป่าเป็นวัตร พระพากุลเถระปฏิบัติอยู่ป่าเป็นวัตรและนั่งเป็นวัตร พระอุปเสนเถระและพระปุณณมันตานีบุตรเถระปฏิบัติธุดงควัตรทั้ง ๑๓ ข้อ ส่วนวิธีการปฏิบัติธุดงควัตรของพระมหาสาวกจะมีลักษณะคือ เมื่อบวชแล้วจะเรียนกรรมฐานหรือหลักธรรมจากพระศาสดาหรือจากพระอาจารย์แล้วจึงเข้าป่าปฏิบัติตามกรรมฐานข้อนั้นๆจนชำนาญหรือพิจารณาหลักธรรมและประกอบความเพียรเจริญสมาธิภาวนาหรือปฏิบัติธุดงควัตรข้อนั้นๆจนเกิดดวงตาเห็นธรรมและได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ในที่สุด     

การประยุกต์ใช้หลักธุดงควัตรในการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบันสำหรับคฤหัสถ์ สามารถนำไปใช้ในลักษณะของความพอเพียงใช้ของเท่าที่จำเป็น ไม่ใช้ของหรือซื้อสิ่งของที่เกินความจำเป็นและไม่มีประโยชน์ การประกอบอาชีพที่สุจริต การเคารพในผู้อาวุโส การลดความอ้วน การไม่ยึดติดในรสชาติของอาหาร การไม่รับประทานกระจุกกระจิก ความยินดีในที่อยู่อาศัยของตน การประกอบความเพียรลดภาวะเส้นเลือดในสมองตีบ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕