บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาวิเคราะห์พุทธจริยศาสตร์ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับพุทธจริยศาสตร์ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท และเพื่อศึกษาวิเคราะห์พุทธจริยศาสตร์ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร มุ่งเน้นศึกษาเอกสารวิชาการในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท จากการศึกษา พบว่า
หลักพุทธจริยศาสตร์ คือ คำสอนของพระพุทธศาสนาว่าด้วยการแสวงหาความดีสูงสุดของชีวิตมนุษย์ และกฎเกณฑ์ในการตัดสินความประพฤติมนุษย์ว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี ความสำคัญของพุทธจริยศาสตร์ประกอบด้วยทฤษฎีคือ หลักความรู้ธรรมชาติและการประพฤติปฏิบัติ ลักษณะของพุทธ จริยศาสตร์มีสองประการ ได้แก่ อุดมการณ์ที่เกี่ยวกับมนุษย์และสังคมมนุษย์กับอุดมการณ์ที่จะทำให้เกิดความเป็นมนุษย์สมบูรณ์แบบหรือมนุษย์ในอุดมคติ สาระสำคัญของพุทธจริยศาสตร์ คือ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การทำกุศลคือความดีให้พรั่งพร้อม การทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว เกณฑ์วินิจฉัยความดี – ชั่วตามทัศนะของพระพุทธศาสนา ใช้เกณฑ์การตัดสินจากมูลเหตุของการกระทำ คือ เจตนาที่เป็นกุศล-อกุศลเป็นหลัก ใช้ผลของการกระทำ โดยพิจารณาจากการกระทำที่มีผลเป็นทุกข์-มีโทษหรือการกระทำที่ให้ผลเป็นสุข-มีคุณประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและบุคคลอื่น ใช้มโนธรรม คือ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีของตนเองและการยอมรับของวิญญูชน คือ การกระทำใดที่วิญญูชนหรือนักปราชญ์หรือบัณฑิตยอมรับ เป้าหมายสูงสุดในชีวิตของพุทธจริยศาสตร์ แบ่งได้เป็นสองระดับ คือ ระดับโลกิยะ และระดับโลกุตระ(นิพพาน)
คัมภีร์อรรถกถาธรรมบท เป็นคัมภีร์ที่ประมวลหลักธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๕ มีลักษณะคำประพันธ์เป็นร้อยกรองหรือคาถา ฉันทลักษณ์ที่ใช้ในการประพันธ์ เรียกว่า ฉันท์ ประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ ได้แก่ อารัมภกถา วัตถุคาถา คาถา เวยยากรณะ สโมธาน พุทธจริยศาสตร์ในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท คือการวินิจฉัยความประพฤติดี-ชั่ว ทางกาย ทางวาจา และทางใจ เป้าหมายสูงสุดในชีวิตมีทั้งระดับโลกิยะและโลกกุตระ ระดับโลกิยะเป็นเป้าหมายสำหรับบุคคลที่ใช้ชีวิตประจำวันอย่างเป็นสุข เป็นเป้าหมายสำหรับโลก สังคม และสำหรับประเทศชาติ โลกกุตระเป็นเป้าหมายสำหรับบุคคลที่ปรารถนาจะบรรลุธรรมขั้นสูง และปรารถนาพระนิพพานเป็นที่สุด
พุทธจริยศาสตร์ที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาธรรมบท วิเคราะห์ได้ว่าเป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยความประพฤติปฏิบัติตามแนวทางพระพุทธศาสนา พุทธจริยศาสตร์ใช้การวินิจฉัยดี-ชั่ว ตามทัศนะของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เป็นบรรทัดฐานในการพิจารณา คือ เกณฑ์หลัก ยึดเจตนากุศล-อกุศล และเกณฑ์ร่วม พิจารณาจากมโนธรรม การยอมรับของวิญญูหรือนักปราชญ์หรือบัณฑิตชน ลักษณะและผลของการกระทำต่อตนเอง ต่อผู้อื่นและจุดมุ่งหมายสูงสุดในชีวิตได้แก่ พระนิพพานคือความอิสระหลุดพ้น
ดาวน์โหลด |