บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) ศึกษาหลักศรัทธา และพิธีกรรมในพระพุทธศาสนา ๒) ศึกษาประวัติ และพิธีกรรมเกี่ยวกับพระธาตุนาดูน อำเภอ
นาดูน จังหวัดมหาสารคาม และ ๓) เพื่อศึกษาคุณค่าศรัทธาที่ปรากฎในพิธีกรรมการบูชา
พระธาตุนาดูนของชาวพุทธอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม
ผลการวิจัยพบว่า ชาวอำเภอนาดูนเชื่อในพุทธานุภาพของพระบรมสารีริกธาตุที่บรรจุอยู่ภายในองค์พระธาตุ และเชื่อในเรื่องของการทำบุญตามหลักบุญกิริยาวัตถุ ๓ จึงทำให้ชาวอำเภอนาดูนปฏิบัติตนให้บริสุทธิ์ทางกาย วาจา และใจ เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ โดยกระทำการสักการบูชาองค์พระธาตุ ด้วยพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีบวงสรวง พิธีกรรมบ๋า พิธีกรรมปงบ๋า พิธีกรรมขอขมา พิธีสรงน้ำพระธาตุ พิธีเวียนเทียน พิธีปฏิบัติธรรมและพิธีเปลี่ยนผ้าห่มพระธาตุ เป็นต้น โดยมีความเชื่อว่าเมื่อกระทำเช่นนี้แล้วจะได้รับความคุ้มครองจากองค์พระธาตุ ให้อยู่เย็นเป็นสุข และจากความเชื่อนี้เอง ก่อให้เกิดงานนมัสการพระธาตุนาดูนใน วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ของทุกปี
กรมศิลปากรและราษฎรในตำบลนาดูนได้ขุดพบพระบรมสารีริกธาตุจากเนินดินที่เป็นซากโบราณสถาน ในบริเวณที่นาของราษฎรท้องที่หมู่ที่ ๑ตำบลนาดูนอำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคามพระบรมสารีริกธาตุมีสัณฐานดังเกล็ดแก้วประดิษฐ์สถานในผอบ ๓ชั้นชาวจังหวัดมหาสารคาม จึงจัดสร้างพุทธมณฑลอีสานขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาศิลปวัฒนธรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อเก็บรักษาโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษา อาณาจักรจัมปาศรีนครโบราณซึ่งอยู่ในสมัยทวารวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๖
พระธาตุนาดูนมีความสำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ประชาชนชาวอำเภอนาดูนมีความเชื่อว่า พระธาตุมีความศักดิ์สิทธิ์มาก มีเทวดาอารักษ์สถิตอยู่ สามารถดลบันดาลให้ผู้ที่ศรัทธาซึ่งกระทำการสักการบูชาแคล้วคลาดปลอดภัย เป็นสิริมงคลทั้งต่อตนเองและครอบครัว จึงได้มีจัดพิธีกรรมการบูชาพระธาตุเป็นบุญประเพณีประจำปีโดยมีพิธีกรรมต่างๆ ตามความเชื่อ มีทั้งพิธีพราหมณ์และพุทธจนเกิดเป็นวัฒนธรรม กลายเอกลักษณ์ของชาวนาดูนในปัจจุบัน
คุณค่าศรัทธาและพิธีกรรมการบูชาพระธาตุนาดูนที่มีต่อชาวอำเภอนาดูน ได้แก่การสร้างวิถีชีวิตชุมชนให้มีความมั่นคงและเข้มแข็งทั้งการเมืองการปกครองท้องถิ่น เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การศึกษา ศิลปวัฒนธรรม จนสามารถหล่อหลอมจิตใจชาวพุทธให้เป็นอันเดียวกันได้ เพราะความเชื่อและความศรัทธาที่มีต่อองค์พระธาตุที่มั่นคง อีกทั้งยังได้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นศูนย์กลางการศึกษา และการปฏิบัติธรรมเพื่อการเข้าถึงพระรัตนตรัยของพุทธศาสนิกชนได้เป็นอย่างดี
ดาวน์โหลด |