หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูวิจิตรวนสาร (บุญสวย สุจิตฺโต/แก้วหานาม)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
การศึกษาหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในพิธีกรรมการทำบุญบั้งไฟของชาวบ้านหนองเขื่อนช้างตำบลท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม
ชื่อผู้วิจัย : พระครูวิจิตรวนสาร (บุญสวย สุจิตฺโต/แก้วหานาม) ข้อมูลวันที่ : ๐๑/๐๙/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหามิตร ฐิตปญฺโญป.ธ.๔, พธ.บ.(รัฐศาสตร์) (Pol.), พธ.ม. พระพุทธศาสนา) (Bud.), Ph.D. (Bud.)
  ดร. ประยูร แสงใส ป.ธ.๔,พธ.บ.,M.A.(Ed.),P.G.DIP.IN Journalism,Ph.D. (Ed.)
  ผศ.ดร.สุวิน ทองปั้น พธ.บ. ,M.A., Ph.D. (Phil.)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

                    วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาความเป็นมาของประเพณีบุญบั้งไฟ ของชาวบ้านหนองเขื่อนช้างตำบลท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม ๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในพิธีกรรมบุญบั้งไฟของชาวบ้านหนองเขื่อนช้าง ตำบลท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม และ ๓) เพื่อศึกษาคุณค่าของพุทธธรรมที่ปรากฏในบุญบั้งไฟ ที่มีต่อวิถีชีวิตชาวบ้านหนองเขื่อนช้าง ตำบลท่าสองคอน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม

ผลการวิจัยพบว่า ความเชื่อและความศรัทธาของชาวบ้านหนองเขื่อนช้าง มีคติความเชื่อทางสังคมของชาวอีสานทั่วไปที่มีวิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ และมีความเชื่อตามนิทานปรัมปราที่เกี่ยวกับบุญบั้งไฟ ๒ เรื่อง คือ เรื่องท้าวผาแดง – นางไอ่ และเรื่องผญาคันคาก และตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวบ้านหนองเขื่อนช้างเชื่อว่าบั้งไฟเป็นเครื่องมือที่ใช้เป็นสัญญาณส่งขึ้นฟ้าเพื่อขอฝนจากผญาแถนซึ่งจะบันดาลให้ฝนตกต้องตามฤดูกาล โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูกาลทำนาโดยจะจัดขึ้นในเดือน ๖ เป็นประจำทุกปี

หลักพุทธธรรมที่ปรากฎในพิธีกรรมการทำบุญบั้งไฟของชาวบ้านหนองเขื่อนช้าง ได้แก่ หลักศรัทธาความเชื่อ ซึ่งชาวบ้านนำความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างความเชื่อแบบดั้งเดิมของชาวอีสานและหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ได้แก่ ฆราวาสธรรม๔ ชาวบ้านทุกคนจะเสียสละเวลา ไม่ไปทำไร่ทำนาแต่จะเสียสละประโยชน์ส่วนตนเพื่อประโยชน์ส่วนรวมในการจัดเตรียมประเพณีบุญบั้งไฟ, สังคหวัตถุ ๔ มีการสงเคราะห์แขกผู้มาร่วมงาน, บุญกิริยาวัตถุ ๓ ชาวบ้านได้ปฏิบัติตามหลัก ทาน ศีล และภาวนา ในทุกกิจกรรม,หลักความสามัคคี, หลักอิทธิบาท ๔ ความชอบ ความเพียร ความเอาใจใส่ และการใช้ปัญญา ชาวบ้านในการทำประเพณีบุญบั้งไฟในทุกกิจกรรมงานจึงสำเร็จออกมาได้, หลักการให้ทาน ชาวบ้านมีการทำบุญบริจาคทรัพย์เพื่อจัดงานประเพณีบุญบั้งไฟ, หลักของศีล และหลักสมาธิ ในการทำบั้งไฟต้องใช้สมาธิตั้งแต่ขึ้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย

ประเพณีบุญบั้งไฟมีคุณค่าต่อการดำรงชีวิตของชาวบ้านหนองเขื่อนช้างเป็นอย่างมาก ซึ่งชาวบ้านได้รับคุณค่าและประโยชน์จากประเพณีบุญบั้งไฟในด้านต่างๆ ได้แก่ ด้านจิตใจ ซึ่งทำให้ชาวบ้านมีความมั่นใจในการประกอบอาชีพทางการเกษตร เชื่อว่าจะมีน้ำทำนา ข้าวปลาอาหารจะอุดมสมบูรณ์, ด้านเศรษฐกิจ ทำให้เกิดรายได้ในชุมชน, ด้านการเมืองการปกครองท้องถิ่น ชาวบ้านจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดงาน, ด้านความสามัคคีของชุมชน ทำให้เกิดความสามัคคีของคนในชุมชนในการ ร่วมจัดบุญบั้งไฟ ยังเป็นการสืบทอดประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของชาวอีสานให้เป็นมรดกสืบต่อไป

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕