บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักอหิงธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท วิธีการแก้ปัญหาการเบียดเบียนกันตามหลักอหิงสธรรม และผลการแก้ปัญหาการเบียดเบียนกันตามหลักอหิงสธรรมของชาวพุทธ อำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ โดยเก็บข้อมูลภาคสนาม นำมาวิเคราะห์เชิงพรรณนาวิธี
ผลการศึกษาพบว่า หลักอหิงสธรรม เป็นหลักปฏิบัติที่มีเป้าหมาย คือการไม่เบียดเบียนกันทางกาย ทางวาจา และทางใจ โดยมีต้นเหตุมาจากกิเลส ตัณหา มานะ และทิฏฐิ พระพุทธศาสนาได้เสนอรูปแบบการจัดการความขัดแย้งด้วยวิธีการที่เรียกว่าการไกล่เกลี่ย ที่ไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง พระพุทธเจ้าทรงเป็นแบบอย่างในการใช้หลักอหิงธรรมในการแก้/ปัญหา เช่น การสร้างความสัมพันธ์กับคู่กรณี การสร้างความเชื่อมั่น และความร่วมมือกับคู่กรณี โดยมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในเชิงสร้างสรรค์ และเกิดการพัฒนาที่เป็นผลดีต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ชาวพุทธอำเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี ได้แก้ปัญหาการเบียดเบียนตามหลักอหิงธรรมด้วยการยึดหลักเมตตาธรรม รู้จักให้อภัยกันและกัน มีสติรู้เท่าทันกับสิ่งที่มากระทบ แม้เกิดเหตุก็ยังระงับยับยั้งอารมณ์ได้ทัน การพูดคุยทำความเข้าใจระหว่างคู่กรณี กับทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ การสร้างกิจกรรมที่ช่วยให้เกิดความรักความเห็นใจต่อกัน การไม่กล่าวร้าย การไม่ทำร้ายต่อบุคคลวัสดุสิ่งของของคนอื่น และเมื่อเกิดเหตุที่จะทำให้เกิดความรุนแรง ก็จะใช้วิธีการไกล่เกลี่ยระหว่างบุคคล
เมื่อชาวพุทธอำเภอโนนสะอาดได้แก้ปัญหาการเบียดเบียนตามหลักอหิงธรรมแล้ว ผลที่มีต่อบุคคล ได้แก่บุคคลแต่ละคนจะเป็นผู้มีจิตสงบนิ่งอยู่ภายใน ส่งผลให้พฤติกรรมทางกาย และวาจาก็สงบด้วย มีความรักความปรารถนาดี ให้คนอื่นมีความสุข ผลต่อสังคมคือคนในสังคมมีความเอื้อเฟื้อ เสียสละแบ่งปัน แสดงความมีน้ำใจต่อคนรอบข้างอยู่เสมอ ความปรองดองสามัคคีก็เกิดแก่คนในชุมชนอย่างที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน
ดาวน์โหลด |