บทคัดย่อ
การวิจัยนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมในพระพุทธศาสนา
เถรวาท และเพื่อเปรียบเทียบความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมตามตัวแปร เพศ อายุ การศึกษา และภูมิลำเนาของพุทธศาสนิกชนอำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งการวิจัยแบ่งเป็น ๒ ตอน คือ ตอนที่ ๑ เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร ซึ่งได้วิเคราะห์ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาทจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และตอนที่ ๒ เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชนอำเภอเมืองนครราชสีมา จำนวน ๓๐๐ คน กลุ่มตัวอย่างที่ได้มาโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม ชนิดมาตราส่วนประมาณค่า จำนวน ๓๐ ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการทดสอบค่าที(t-test) ผลการศึกษาพบว่า
๑. ความเชื่อในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง ความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล เป็นความเชื่อที่ผ่านการกลั่นกรองแล้วจากปัญญา ในพระพุทธศาสนาแบ่งศรัทธาออกเป็น ๔ อย่าง คือ (๑) กัมมสัทธา เชื่อกรรม คือ เชื่อว่า กรรมดีมีจริง กรรมชั่วมีจริง (๒) วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม คือ เชื่อว่าใครทำดีต้องได้ดี ใครทำชั่วต้องได้ชั่ว ไม่แปรผัน ไม่สงสัยในเรื่องผลของกรรม (๓) กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อว่าสัตว์ทั้งหลายมีกรรมเป็นของของตน คือเชื่อว่า กรรมนี้ทั้งดีและชั่ว ใครทำใครได้ ใครไม่ทำก็ไม่ได้ ความบริสุทธิ์หรือความไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน และ (๔) ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อการตรัสรู้ของพระตถาคตเจ้า คือพุทธศาสนิกชนที่ดีทุกคนย่อมเชื่อว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้จริง พระธรรมเป็นของประเสริฐจริง ไม่ใช่เป็นของที่ใครแต่งหรือใครเขียนขึ้นมา
๒. ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมของพุทธศาสนิกชนอำเภอเมืองนครราชสีมา โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ( = ๓.๙๔, S.D. = .๓๘) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ทุกด้านอยู่ในระดับมากและเรียงลำดับค่าเฉลี่ยในแต่ละด้านจากมากไปหาน้อยได้แก่ด้านกัมมสัทธา คือ การเชื่อกรรม ( = ๔.๐๔, S.D. = .๔๕) ด้านวิปากสัทธา คือ เชื่อผลของกรรม เชื่อวิบากกรรม ( = ๓.๙๘, S.D. = .๔๕) และ ด้านกัมมัสสกตาสัทธา คือ การเชื่อว่าสัตว์มีกรรมเป็นของของตน ( = ๓.๗๙, S.D. = .๕๔) ตามลำดับ
๓. ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมของพุทธศาสนิกชนอำเภอเมืองนครราชสีมา จำแนกตามเพศ โดยภาพรวม และรายด้านทุกด้านไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .๐๕
๔. ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมของพุทธศาสนิกชนอำเภอเมืองนครราชสีมา จำแนกตามอายุ โดยภาพรวมไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .๐๕ และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.๐๕ จำนวน ๑ ด้าน คือ ด้านกัมมสัทธา โดยพุทธศาสนิกชนที่มีอายุต่ำกว่า ๒๕ ปี มีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมเฉลี่ยสูงกว่าอายุ ๒๕ ปีขึ้นไป ส่วนด้านที่เหลือไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .๐๕
๕. ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมของพุทธศาสนิกชนอำเภอเมืองนครราชสีมา จำแนกตามการศึกษา โดยภาพรวมไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .๐๕ และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.๐๕ จำนวน ๑ ด้าน คือ ด้านกัมมัสสกตาสัทธา ส่วนด้านที่เหลือไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .๐๕ โดยพุทธศาสนิกชนที่มีการศึกษาต่ำกว่าหรือประถมศึกษามีความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมเฉลี่ยสูงกว่า สูงกว่าประถมศึกษา
๖. ความเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรมของพุทธศาสนิกชนอำเภอเมืองนครราชสีมา จำแนกตามภูมิลำเนา โดยภาพรวม และรายด้านทุกด้านไม่แตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .๐๕
ดาวน์โหลด |