หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » วิระดา แก่นกระโทก
 
เข้าชม : ๒๑๐๗๐ ครั้ง
ศึกษาวิเคราะห์การบรรลุธรรมของกลุ่มบุคคลหลากหลายอาชีพในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : วิระดา แก่นกระโทก ข้อมูลวันที่ : ๓๑/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาวรัญญู วรญฺญู ดร. ป.ธ. ๗, พธ.บ., M.A.,Ph.D.
  รศ.บุญเรือง อินทวรันต์ ป.ธ.๖, พธ.บ., กศ.ม.
  ผศ.ดร.วรกฤต เถื่อนช้าง ป.ธ. ๙, ศษ.บ., ศศ.ม.,ปร.ด.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่องศึกษาวิเคราะห์การบรรลุธรรมของกลุ่มบุคคลหลากหลายอาชีพใน  พระพุทธศาสนาเถรวาทนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) ศึกษาแนวคิดเรื่องอาชีพในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) ศึกษาการบรรลุธรรมของกลุ่มบุคคลหลากหลายอาชีพในสมัยพุทธกาล และ ๓) วิเคราะห์การบรรลุธรรมของบุคคลหลากหลายสถานะและอาชีพในพระพุทธศาสนาเถรวาท

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เน้นศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร โดยสำรวจข้อมูลชั้นปฐมภูมิจากพระไตรปิฎก อรรถกถา  สำรวจข้อมูลทุติยภูมิจากตำราวิชาการ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

ผลการวิจัยพบว่า

๑) อาชีพในสมัยพุทธกาลที่ปรากฏในพระไตรปิฎกโดยการระบุชื่ออาชีพมี ๒๔ อาชีพ เช่น พลช้าง พลม้า ทาสเรือนเบี้ย พ่อครัว ช่างดอกไม้ นักบัญชี เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีอาชีพอื่นๆ ที่มิได้ระบุชื่อโดยตรง เพียงแต่ใช้คำว่า “อาชีพที่อาศัยศิลปะอย่างอื่นทำนองนี้” ส่วนในคัมภีร์อรรถกถา ได้ระบุชื่อของอาชีพในสมัยพุทธกาลมากกว่าในพระไตรปิฎก โดยสามารถจัดเป็น ๗ สถานะและอาชีพ คือ สถานะและอาชีพบริการ สถานะและอาชีพช่างฝีมือ วิชาชีพ อาชีพบันเทิงธุรกิจ อาชีพรับราชการ อาชีพค้าขาย และ การเลี้ยงสัตว์และเกษตรกรรม พุทธศาสนาเถรวาท เน้นย้ำในเรื่องอาชีพสุจริตเป็นเบื้องต้น ผู้ที่ประพฤติปฏิบัติดำเนินไปตามหลักอาชีพที่สุจริตนั้น ย่อมมีความสัมพันธ์กับอาชีพในอริยมรรคอันได้แก่ สัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการดำเนินไปสู่การบรรลุธรรม

๒) การบรรลุธรรม คือ การบรรลุมรรคผลในระดับต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนาเถรวาท ตั้งแต่ระดับต้นจนถึงระดับสูงสุด ได้แก่ พระโสดาบัน  พระสกทามี  พระอนาคามี  และพระอรหันต์ โดยปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา และกัมมัฏฐาน พระมหาสาวก ๘๐ องค์ มาจากกลุ่มบุคคลหลากหลายสถานะและอาชีพในสมัยพุทธกาลที่ได้บรรลุธรรม คือ พระอรหัตผล จัดเป็น ๑๗ สถานะและอาชีพ คือ นักบวช พระสงฆ์ กษัตริย์  พระโอรสหรือพระนัดดา ปุโรหิต อำมาตย์  เศรษฐี บุตรหรือหลานเศรษฐี  อาจารย์สอนมนต์ บุตรพราหมณ์ทั่วไป  บุตรพราหมณ์ร่ำรวย หมอดู ช่างกัลบก ชาวประมง คนอาศัยวัด โจร คนลวงโลก และสามารถจัดลักษณะการบรรลุธรรมเป็น ๓ ประเภท คือ บรรลุธรรมจากการฟังธรรม บรรลุธรรมจากการปฏิบัติ และบรรลุธรรมจากการฟังธรรมและปฏิบัติคู่กัน

๓) สถานะและอาชีพของบุคคล มีผลต่อการบรรลุธรรม โดยต้องเป็นสัมมาอาชีพ อันเป็นองค์ธรรมข้อ ๑ ในมรรค  ดังกรณีพระมหาสาวก ๘๐ องค์ กลุ่มที่มีสถานะและอาชีพเดียวกัน เช่น นักบวชและพราหมณ์ จะมีลักษณะการบรรลุธรรมที่คล้ายคลึงกันเป็นส่วนมาก  การประกอบอาชีพในปัจจุบันอย่างเดียว ยังไม่พอเพียงที่จะส่งผลให้เกิดการบรรลุธรรมของแต่ละบุคคลหลากหลายสถานะและอาชีพ หากแต่จะต้องมีปัจจัยที่ส่งผลต่อสถานะและอาชีพและการบรรลุธรรมอีก ๔ ประการ คือ การได้สั่งสมบุญมาแต่ชาติปางก่อน การดำรงตนไว้ในทางที่ถูกต้อง การได้พบกัลยาณมิตรผู้บอกหนทาง และการได้อยู่ในสถานที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม อาชีพของมนุษย์ในสังคมปัจจุบัน ยังสามารถส่งผลให้เกิดการบรรลุธรรมได้ ถ้าหากอาชีพนั้นเป็นสัมมาอาชีวะจริงๆ และผู้ประกอบอาชีพนั้นดำเนินชีวิตตามอริยมรรค

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕