บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้ ๑) เพื่อศึกษาหลักสังคหวัตถุธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาการนำหลักสังคหวัตถุธรรมไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรเทศบาลตำบลจตุรพักตรพิมาน อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการนำหลักสังคหวัตถุธรรมไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรเทศบาลตำบลจตุรพักตรพิมาน อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบผสมโดยใช้การวิจัยเชิงปริมาณ และการวิจัยเชิงคุณภาพ ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ ประชากร ได้แก่ บุคลากรเทศบาลตำบลจตุรพักตรพิมาน อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน ๑๐๓ คน กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ บุคลากรเทศบาลตำบลจตุรพักตรพิมาน อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด จำนวน ๘๒ คน ซึ่งได้จากการกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างของทาโรยามาเน่ ( Taro Yamane) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ ๐.๙๗ สถิติที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
การนำหลักสังคหวัตถุธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท สังคหวัตถุธรรม เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจคน การผูกไมตรี เอื้อเฟื้อ เกื้อกูล หรือเป็นหลักการสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน รู้จักวางตนให้เหมาะสมกับฐานะพูดแต่ในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ละเว้นความชั่ว เป็นประโยชน์ในการดำรงชีวิต มีจิตใจมั่นคงไม่หวั่นไหว เปลี่ยนแปลงง่ายและดำรงตนไว้ไม่ให้ตกไปในความชั่ว ปฏิบัติกับคนทั้งหลายอย่างเท่าเทียมกัน รวมทั้งอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุข ร่วมแก้ไขปัญหากับประชาชน
การนำหลักสังคหวัตถุธรรมไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรเทศบาลตำบลจตุรพักตรพิมาน อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน อยู่ในระดับมากทุกด้าน ลำดับตามค่าเฉลี่ยจากสูงไปหาต่ำ คือ ด้านสมานัตตตา ด้านทาน ด้านปิยวาจา ด้านอัตถจริยา
แนวทางการนำหลักสังคหวัตถุธรรมไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรเทศบาลตำบลจตุรพักตรพิมาน อำเภอจตุรพักตรพิมาน จังหวัดร้อยเอ็ด การนำหลักสังคหวัตถุธรรมมาปรับใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และระบบการบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตนเอง เพื่อให้เกิดความรัก ความสามัคคีกัน สามารถแยกเป็นรายด้านมีรายละเอียดดังนี้คือ ด้านทาน คือนำหลักเมตตาไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ให้มากขึ้น ด้านปิยวาจา คือ พูดจากับประชาชนด้วยความสุภาพ จริงใจ และพร้อมที่จะให้บริการ ด้านอัตถจริยา คือ ให้การบริการประชาชนโดยไม่มุ่งหวังว่าจะได้รับผลตอบแทน สิ่งของหรือคำชมเชย และ ด้านสมานัตตตา คือ ให้บริการแก่ประชาชนทุกคนที่มาติดต่อราชการอย่างเท่าเทียมกัน และเป็นธรรม
ดาวน์โหลด
|