หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูนิพัทธ์กัลยาณวัฒน์ (คะนอง ลายน้ำทอง)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๓ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบสถานภาพบทบาทและสิทธิของสตรีในสมัยพุทธกาลกับสังคมไทย
ชื่อผู้วิจัย : พระครูนิพัทธ์กัลยาณวัฒน์ (คะนอง ลายน้ำทอง) ข้อมูลวันที่ : ๓๑/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาวรัญญู วรญฺญู, ดร. พธ.บ., M.A., Ph.D. (Indo-Tibetan Studies)
  ผศ.ดร.วรกฤต เถื่อนช้าง ป.ธ.๙,ศษ.บ.,ศศ.ม.,ปร.ด.(การบริหารอุดมศึกษา)
  อาจารย์ศิริโรจน์ นามเสนา นามเสนา พธ.บ., กศ.ม.(การบริหารการศึกษา)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง “เปรียบเทียบสถานภาพบทบาทและสิทธิของสตรีในสมัยพุทธกาลกับสังคมไทย” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาสถานภาพบทบาทและสิทธิสตรีในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาสถานภาพบทบาทและสิทธิสตรีในสังคมไทย และ ๓)เพื่อเปรียบเทียบสถานภาพบทบาทและสิทธิสตรีในพระพุทธศาสนากับสตรีในสังคมไทย การศึกษาวิจัยครั้งนี้ได้รวบรวมข้อมูลจากเอกสาร คือคัมภีร์พระไตรปิฎก ตลอดจนเอกสาร งานวิชาการ และผลงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วประมวลข้อมูลนำมาศึกษาเปรียบเทียบเนื้อหา และนำเสนอผลการวิจัยด้วยวิธีพรรณนา

ผลการวิจัยพบว่า

๑)      สถานภาพบทบาทและสิทธิสตรีที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาทนั้น มีสถานภาพที่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของบุรุษเพศ ทำให้บทบาทและสิทธิถูกจำกัดอยู่เพียงคอยปฏิบัติตามและรับคำสั่งให้ปฏิบัติ  แต่เมื่อพระพุทธศาสนามีอิทธิพลด้านจิตใจทางสังคมอินเดียยุคนั้น ทำให้ทราบว่าทั้งหญิงและชายล้วนมีความเหมือนกันทางด้านสติปัญญา คือ สามารถพัฒนาจิตใจ และยกระดับสติปัญญาของตนให้สูงขึ้น จนสามารถบรรลุธรรมได้ ด้วยเหตุนี้หลักการของพระพุทธศาสนา จึงได้ปฏิเสธสิ่งที่แตกต่างกันระหว่างสตรีกับบุรุษ   แต่ขึ้นอยู่กับกระทำกรรม เพราะผลของกรรมทั้งฝ่ายกุศล และฝ่ายอกุศล เป็นตัวกำหนดให้สตรีและบุรุษมีความแตกต่างกันไปด้วย

๒)      สถานภาพบทบาทและสิทธิสตรีในสังคมไทย โดยภาพรวมมีความเท่าเทียมกันในทางสังคม โดยเฉพาะภาพลักษณ์ของสตรีผู้นำของประเทศ ซึ่งเป็นไปบทบัญญัติของกฎหมาย ตามมาตรา ๓๐ ของฉบับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้บัญญัติหลักการต่างๆ ถึงสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างสตรีกับบุรุษ ที่นักกฏหมายเขียนขึ้นมา แต่เมื่อพิจาณาตามความเป็นจริงแล้ว สังคมไทยทั้งฝ่ายหญิงและฝ่ายชาย       ยังมีทัศนะต่อสตรีอยู่ในฐานะเพศที่สองรองจากบุรุษเสมอ ดังได้ปรากฏตามสื่อโทรทัศน์ หมายความว่า สตรีอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบทางสังคม ส่วนสิทธิการบวชเป็นภิกษุณี ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทของสังคมไทยนั้น ได้ขาดช่วงไปนานแล้ว จึงมีทัศนะต่อการบวชของสตรีในสังคมไทยว่า สตรีเมื่ออยู่ใกล้บุรุษ(ภิกษุ) ย่อมมีเหตุไม่เหมาะสมเกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุนี้ สตรีจึงอยู่ในฐานะเป็นอุบาสิกา เป็นผู้สนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงต่อไป

๓)      การเปรียบเทียบสถานภาพบทบาทและสิทธิสตรีในพระพุทธศาสนากับสตรีในสังคมไทยปัจจุบัน พบว่า  มีสิ่งที่เหมือนกัน คือสิทธิในการพัฒนาตน และปฏิบัติตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนา     จนสามารถพัฒนาจิตให้บรรลุธรรม และหลุดพ้นจากความทุกข์ในปัจจุบันได้ โดยอาศัยบารมีของตน ส่วนที่ต่างกัน คือ สิทธิของสตรีในพุทธกาล มีโอกาสได้บวชเป็นภิกษุณีถูกต้องตามพุทธบัญญัติ ส่วนการบวชของสตรีในประเทศไทย ได้เพียงเป็นแม่ชี และอุบาสิกา แต่ต่างก็ได้ปฏิบัติถูกต้องตามคำสอนของพระพุทธองค์ สำหรับสถานภาพบทบาทอื่นๆ ที่สตรีจะต้องกระทำนั้น คืออยู่ในฐานะเป็นแม่บ้าน    ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันกับวิถีชีวิตของสตรีในปัจจุบัน และที่เห็นได้ชัดในสังคมไทย สิทธิของสตรีสามารถเป็นผู้นำของประเทศได้ ก็ได้อาศัยจากความรู้ ประสบการณ์ ความเป็นผู้นำ และความสามารถด้วย

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕