บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ ๑) เพื่อศึกษาสมถกัมมัฏฐานในคัมภีร์วิสุทธิมรรคและคัมภีร์วิมุตติมรรค ๒) เพื่อศึกษาความเหมือนกันและความต่างกันของ สมถกัมมัฏฐานในคัมภีร์วิสุทธิมรรคและคัมภีร์วิมุตติมรรค และ ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์สมถกัมมัฏฐานในฐานะบาทฐานของวิปัสสนากัมมัฏฐาน
เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร โดยวิเคราะห์สมถกัมมัฏฐานในฐานะเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐาน ใน ๒ ประเด็นคือ ๑) การใช้องค์ฌานเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา และ ๒) การใช้อารมณ์ของสมถกัมมัฏฐานเป็นอารมณ์ของวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วนำมาบูรณาการสมถกัมมัฏฐานในคัมภีร์ วิสุทธิมรรคและคัมภีร์วิมุตติมรรค เพื่อใช้เป็นแนวทางการปฏิบัติ
ผลการวิจัยพบว่า สมถกัมมัฏฐานในคัมภีร์วิสุทธิมรรค แบ่งออกเป็น ๗ หมวดคือ กสิณ ๑๐ อสุภะ ๑๐ อนุสสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อรูปฌาน ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา และ จตุธาตุววัฏฐาน ส่วน ในคัมภีร์วิมุตติมรรคแบ่งออกเป็น ๓๘ ประการคือ กสิณ ๑๐ อสุภสัญญา ๑๐ อนุสสติ ๑๐ อัปปมัญญา ๔ จตุธาตุววัฏฐาน อาหาเรปฏิกูลสัญญา อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ
ในด้านเนื้อหา ด้านการปฏิบัติ และผลการปฏิบัติ ทั้งสองคัมภีร์กล่าวไว้สอดคล้องเป็นแนวเดียวกัน แต่วิธีการปฏิบัติบางเรื่องก็แตกต่างกัน ซึ่งสามารถสรุปประเด็นได้ ดังนี้ เมื่อปฏิบัติกัมมัฏฐานข้อใดข้อหนึ่ง อานิสงส์ที่ได้คือ การรู้เท่าทันความเป็นจริงของชีวิต มีสติ ไม่ประมาท คลายความยึดมั่นถือมั่น ดำเนินชีวิตอย่างมีสติ เป็นบาทฐานของวิปัสสนากัมมัฏฐาน กล่าวคือสมถกัมมัฏฐานเมื่อเจริญแล้ว สามารถให้บรรลุมรรคผลนิพพาน หรือเป็นบาทฐานของการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน
เมื่อวิเคราะห์สมถกัมมัฏฐานในฐานะเป็นบาทฐานของวิปัสสนา จะเห็นได้ว่า เมื่อเจริญสมถกัมมัฏฐานข้อใดข้อหนึ่ง จิตตั้งมั่นเป็นขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิและอัปปนาสมาธิ จากนั้น องค์ฌานก็จะเกิดขึ้น ก็ใช้องค์ฌานนั้นเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือใช้อารมณ์สมถกัมมัฏฐานบางหมวด เพื่อเป็นบาทฐานเพื่อการเจริญวิปัสสนา จนสามารถบรรลุอรหัตผลได้
ดาวน์โหลด
|