บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวคิดกระบวนการผุดบังเกิดแห่งสังคมตื่นรู้จากการก้าวข้ามของบุคคลตามหลักพุทธธรรมและวิทยาการปัจจุบัน ๒) เพื่อศึกษาวิเคราะห์กระบวนการผุดบังเกิดแห่งสังคมตื่นรู้จากการก้าวข้าม ของบุคคลตามหลักของประยงค์ รณรงค์และชุมชนไม้เรียง ๓) เพื่อสร้างแบบจำลองกระบวนการผุดบังเกิดแห่งสังคมตื่นรู้จากการก้าวข้ามของบุคคลเพื่อใช้ในสังคมไทยปัจจุบัน
วิทยานิพนธ์นี้อยู่ในกระบวนทัศน์การวิจัยแบบการแปลความ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพที่มุ่งให้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาและเพื่อใช้ประโยชน์เป็นการวิจัยแบบประยุกต์ การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตอย่างมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วมและการวิจัยเชิงเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึกเริ่มจากประยงค์ รณรงค์ในฐานะผู้ให้ข้อมูลสำคัญและใช้การเลือกตัวอย่างผู้ให้ข้อมูลคนอื่นแบบสโนว์บอลเทคนิคเสริมด้วยการสัมภาษณ์แบบสุ่มตัวอย่างตามทฤษฎี สำหรับแนวทางการวิเคราะห์ประยุกต์ใช้แนวทางการสร้างทฤษฎีจากพื้นฐาน ส่วนการตรวจสอบความน่าเชื่อถือใช้วิธีการตรวจสอบแนวคำถามสัมภาษณ์ การตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหาโดยประยงค์ รณรงค์ การรับฟังความเห็นสาธารณะและการจัดสัมมนาเฉพาะกลุ่มเพื่อการตรวจสอบความถูกต้องตามหลักธรรมและรับรองผลการวิจัย
งานวิจัยนี้แสดงถึงแนวคิดการก้าวข้ามของบุคคลด้วยขั้นของการพัฒนาจิต ในทางพระพุทธศาสนาขั้นการพัฒนาเริ่มตั้งแต่คนพาลจนถึงบัณฑิตขั้นสูงสุดซึ่งในงานวิจัยนี้ บัณฑิตขั้นสูงสุดหมายถึงผู้มีความฉลาดลึกซึ้งในธรรม การแบ่งขั้นการพัฒนานี้แตกต่างจากขั้นของสาขาจิตวิทยา ในด้านกระบวนการผุดบังเกิดทางสังคมนั้น พระพุทธศาสนา มีหลักธรรมในเรื่องปฏิจจสมุปบาทที่อธิบายการเกิดและดับทุกข์ในปัจเจกบุคคลและการเกิดปัญหาระหว่างบุคคล ขณะที่วิทยาการปัจจุบันอธิบายกระบวนการนี้จากปฏิสัมพันธ์ของคนในสังคมที่กระทำ ซ้ำ ๆ อย่างหนาแน่นและต่อเนื่อง สำหรับแนวคิดสังคมตื่นรู้นั้นเป็นระบบสังคมที่มีหลักธรรมขับเคลื่อนหน้าที่และระบบย่อยต่าง ๆ ได้แก่ อโลภะในระบบเศรษฐกิจ, อโทสะในระบบการเมือง, อโมหะในชุมชนทางสังคม และอัปปมาทะในระบบวัฒนธรรม
การวิจัยนี้พบว่า การก้าวข้ามของประยงค์ รณรงค์เริ่มจากอันธปุถุชนในวัยเด็ก เป็นกัลยาณปุถุชนขั้นต้นเมื่อบวชและวางแผนชีวิต เป็นบัณฑิตขั้นต้นซึ่งหมายถึงผู้ดำเนินชีวิตด้วยกุศลกรรมและปัญญาเมื่อประยงค์เลิกอบายมุขพร้อมทั้งเจริญสัปปุริสธรรม และก้าวข้ามสู่บัณฑิตขั้นสูงซึ่งในการวิจัยนี้หมายถึงผู้เกื้อกูลตน ผู้อื่นและโลก เมื่อเป็นผู้นำชุมชนหลังเกษียณจากอาชีพเกษตรกร นอกจากนี้ ยังพบว่า กระบวนการผุดบังเกิดทางสังคมของชุมชนไม้เรียงเกิดจากปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนจนเกิดปฏิบัติการ ๑๒ ปฏิบัติการที่สวนทางกระบวนทัศน์กระแสหลักในสังคม และจากปฏิบัติการดังกล่าวได้เกิดการผุดบังเกิดคุณสมบัติใหม่ขึ้นหลายประการ อาทิ การเกิดโรงงานยางของเกษตรกรแห่งแรกในประเทศ, การเกิดเครือข่ายยมนา, วิสาหกิจชุมชน, สภาผู้นำชุมชน, การเกิดกระบวนการเรียนรู้แผนแม่บทชุมชนแห่งแรกในประเทศ เป็นต้น คุณสมบัติใหม่เหล่านี้สอดคล้องกับหลักธรรมที่กำกับระบบย่อย รวมทั้งที่ขับเคลื่อนระบบสังคมในแนวคิดสังคมตื่นรู้
การวิจัยนี้ได้ค้นพบและแสดงเป็นแบบจำลอง “สังคมตื่นรู้โมเดล” เพื่อให้เห็นว่า การก้าวข้ามของบุคคลนำไปสู่การผุดบังเกิดแห่งสังคมตื่นรู้ได้ โดยการประชุมกลุ่มบัณฑิตและกัลยาณมิตรในการคิดและทำอย่างเป็นกุศลในเวทีของตนซึ่งแตกต่างจากสังคมส่วนใหญ่ เป็นการทำอย่างต่อเนื่องซ้ำ ๆ และขยายผลทั้งด้านเวลาและพื้นที่ซึ่งแสดงถึงความเพียรในการแก้ปัญหา การรู้ชัดในสถานการณ์และการรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงหรือผู้วิจัยเทียบเคียงกับ พุทธพจน์ว่า อาตาปี สมฺปชาโน สติมา ส่วนการผุดบังเกิดสังคมตื่นรู้อาศัยการยกระดับการรู้จักตนเองของคนในชุมชนสู่วัฒนธรรมแห่งสติ (อัปปมาทะ) สังคมอุดมปัญญา (อโมหะ) เศรษฐกิจแห่งการแบ่งปัน (อโลภะ) และการเมืองของความการุณย์ (อโทสะ)
กล่าวโดยสรุป การก้าวข้ามของบุคคลนำไปสู่การผุดบังเกิดแห่งสังคมตื่นรู้ได้โดยการเจริญความเพียร การรู้ชัดและการรู้เท่าทันในระดับกลุ่มของตนเอง.
ดาวน์โหลด
|