คัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาการจัดสวัสดิการชุมชนตามแนวของพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาการจัดสวัสดิการชุมชนตามแนวขององค์การสวัสดิการสังคม และ ๓) เพื่อศึกษาความเป็นมา หลักการ ลักษณะ และกระบวนการของการจัดสวัสดิการชุมชนของวัดพระธาตุช่อแฮ ตำบลช่อแฮ อำเภอเมืองแพร่ จังหวัดแพร่โดยการใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ประชากรที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ประชาชนและพระภิกษุสามเณร ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดสวัสดิการและการรับสวัสดิการของวัดพระธาตุช่อแฮ ได้กลุ่มตัวอย่างมาโดยการสุ่มแบบเจาะจงประกอบด้วย ๖ กลุ่ม คือ ๑) พระภิกษุ สามเณร ๒) เจ้าหน้าที่วัดพระธาตุช่อแฮ ๓) คณะกรรมการวัดพระธาตุช่อแฮ ๔) ร้านค้าชุมชน ๕) ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ตำบลช่อแฮและตำบลป่าแดง ๒ หมู่บ้าน และ ๖) องค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวัดพระธาตุช่อแฮ รวม ๔๐ รูป/คนเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบฟอร์มบรรณิกรณ์ข้อมูลจากการศึกษาเอกสารปฐมภูมิ และเอกสารทุติยภูมิ แบบสัมภาษณ์ และแนวคำถามในการสนทนากลุ่ม(Focus Group Discussion) วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพโดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของการศึกษา ผลของการศึกษามีดังนี้
๑. การจัดสวัสดิการในพระพุทธศาสนา สรุปผลการศึกษาได้ ๔ ประเด็น คือ ๑) เป็นการจัดสวัสดิการที่ยังไม่มีรูปแบบที่ชัดเจน อาศัยหลักของคุณธรรม และจริยธรรมโดยเน้นประโยชน์ ๓ ด้าน คือ ประโยชน์ส่วนตน ประโยชน์ส่วนรวมหรือเพื่อผู้อื่น และประโยชน์สูงสุดเพื่อบรรลุมรรคผล และนิพพาน๒)หลักธรรมที่สัมพันธ์กับการจัดสวัสดิการชุมชน ได้แก่ ราชสังคหวัตถุ ๔, นาถกรณธรรม ๑๐, สังคหวัตถุ ๔๓)หลักการสงเคราะห์(อัตถะ๓)ได้แก่ (๑) ทิฏฐธัมมิกัตถะการสงเคราะห์ปัจจัยสี่ที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตต่อปัจเจกบุคคล(๒) สัมปรายิกัตถะการสงเคราะห์เพื่อให้สังคมมีความสงบสุข มุ่งแก้ปัญหาสังคมโดยรวม และ (๓) ปรมัตถะการสงเคราะห์ด้านจิตใจ เพื่อให้บุคคลดับทุกข์ทางใจ และดับปัญหาทางกายโดยสิ้นเชิงและ ๔)หลักการจัดสวัสดิการตามแนวพระพุทธศาสนามี ๗ ประการ คือ (๑)หลักเหตุผล (๒) หลักทางสายกลาง (๓) หลักพึ่งตนเอง (๔) สมดุลทั้งวัตถุและจิตใจ ๕) ค่อยเป็นค่อยไป (๖) สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายหลักของชีวิต คือ การดับทุกข์หรือปัญหาได้ ๗)ไม่ก่อทุกข์ให้กับทั้งตนเองและผู้อื่น
๒. การจัดสวัสดิการชุมชนขององค์การสวัสดิการสังคมสรุปผลการศึกษาได้ ๕ ประเด็น คือ ๑) ความหมาย คือ การจัดบริการรูปแบบใดก็ตามที่ทำให้คนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข มีความมั่นคง ปลอดภัย เป็นองค์รวมของการดำรงชีวิตของคน สิ่งมีชีวิตอื่นๆ และสิ่งแวดล้อมที่ต้องพึ่งพาอาศัยกัน ๒) ลักษณะการจัดสวัสดิการชุมชน มี ๙ ลักษณะ คือ (๑) การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (๒) การสนองความต้องการของชุมชน (๓)การมีเอกลักษณ์ของชุมชนเอง (๔) การตรวจสอบเพื่อรู้ปัญหาและแก้ไข (๕) การสั่งสมประสบการณ์ (๖) วิถีการดำเนินชีวิต (๗) การสร้างผู้นำที่มีประสบการณ์ (๘) การสร้างเครือข่ายชุมชน (๙) การปรับตัวและรูปแบบการจัดสวัสดิการชุมชนมี ๗ รูปแบบ คือ (๑) จัดจากฐานองค์กรการเงินชุมชน (๒) จัดจากฐานการผลิต/ธุรกิจชุมชน (๓) จัดจากฐานทรัพยากรธรรมชาติ/สิ่งแวดล้อม (๔) จัดจากฐานอุดมการณ์ / ศาสนา คำสอน (๕) จัดจากฐานชุมชนเมือง (๖) จัดจากฐานผู้สูงอายุ (๗) จัดจากฐานผู้นำชุมชน และหน่วยงานต่างๆ ๓) แนวคิดการจัดสวัสดิการชุมชนในปัจจุบัน คือ การทำให้คนและชุมชนมั่นคงเป็นตัวของตัวเอง ลดการพึ่งพาภายนอก นำไปสู่การพึ่งตนเองในมิติอื่นๆตั้งแต่เกิดจนถึงตาย ๔) หลักการจัดสวัสดิการชุมชน ๗ ประการ (๑) สอดคล้องกับวิถีชีวิต (๒) เริ่มจากเล็กไปใหญ่ (๓) เงินเป็นเพียงเครื่องมือ ไม่ใช่เป้าหมาย (๔) ไม่ก่อให้เกิดการแบ่งแยกในชุมชน (๕) สามารถเชื่อมโยงกันได้ตั้งแต่เกิดจนตาย (๖) ต้องเป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ (๗) ต้องทำด้วยความรักและอดทน ๕) กระบวนการจัดสวัสดิการชุมชนในปัจจุบันมี ๘ ขั้นตอน คือ (๑) จุดประกายความคิด (๒) ค้นหาศักยภาพและทุนในท้องถิ่น (๓) ขยายแกนนำให้ครอบคลุมพื้นที่ปฏิบัติการ (๔) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในท้องถิ่น (๕) การตั้งกองทุนสวัสดิการชาวบ้าน (๖) การบริหารกองทุน (๗) การติดตามประเมินผล และ(๘) การขยายผล
๓. การจัดสวัสดิการของวัดพระธาตุช่อแฮ สรุปผลการศึกษาได้ ๔ ประเด็น คือ ๑) ความเป็นมาเกิดขึ้นครั้งแรกจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งร้ายแรง ในปี พ.ศ.ใดไม่ปรากฏหลักฐาน ทำให้ประชาชนเดือดร้อน และอพยพมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ของวัด และทางวัดให้ประชาชนมีสิทธิ์อยู่อาศัยต่อมาทางวัดได้มีการจัดสวัสดิการด้านต่างๆขึ้นอย่างหลากหลาย ๒) หลักการและแนวคิดในการจัดสวัสดิการชุมชนยึดหลักการสำคัญ ๒ ประการ คือ นโยบาย“๙ ข้อ ๙ มงคล” และ หลักการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันโดยการคืนสวัสดิการที่ดีกลับสู่สังคม๓) ลักษณะของการจัดสวัสดิการชุมชนของวัดพระธาตุช่อแฮ แบ่งได้ ๘ ด้านคือ( ๑) ด้านการส่งเสริมอาชีพและรายได้ (๒) ด้านการส่งเสริมการศึกษา (๓) ด้านการส่งเสริมกิจกรรมสาธารณประโยชน (๔) ด้านการดูแลสุขภาพ (๕ ) ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต (๖) ด้านการมีส่วนร่วม (๗) ด้านการพัฒนาจิตใจ และ(๘) ด้านความพึงพอใจ
๔. กระบวนการจัดสวัสดิการชุมชนของวัดพระธาตุช่อแฮ สามารถเทียบเคียงได้กับระบบ PDCA ๔ ขั้นตอน ได้แก่ (๑) P : Plan การวางแผน (๒) D : Do การปฏิบัติตามแผน (๓) C : Checking การตรวจสอบการปฏิบัติตามแผน และ (๔) A : Action การปรับปรุงแก้ไข
ดาวน์โหลด |