หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นายทศพร คุ้มภัย
 
เข้าชม : ๑๙๙๕๙ ครั้ง
ศึกษาวิธีการตีความเรื่องสุขาวดีพุทธเกษตรในพระพุทธศาสนามหายาน
ชื่อผู้วิจัย : นายทศพร คุ้มภัย ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร ป.ธ.๗, พธ.บ., ศศ.ม., พธ.ด.
  ภิกษุณีอัมพิกา อัคคชินญาณ B.A., M.A.
  .
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องสุขาวดีพุทธ-เกษตรในพระพุทธศาสนามหายาน โดยมีความมุ่งหมายต่อการศึกษาวิธีการตีความเรื่องสุขาวดีพุทธเกษตร และวิเคราะห์การตีความเรื่องสุขาวดีพุทธเกษตรกับการตีความพุทธศาสนาในสังคมไทย

จากการศึกษาพบว่า แนวความคิดเรื่องสุขาวดีพุทธเกษตรมีกำเนิดและพัฒนาการมาควบคู่กับประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนามหายาน โดยได้รับอิทธิพลแนวคิดนี้จากปัจจัยแวดล้อมหลายประการเช่น อุดมคติเรื่อง “พุทธภูมิ” สภาวะทางสังคม ตลอดจนพุทธปรัชญามหายาน แนวความคิดดังกล่าว มีการจัดระบบทั้งในรูปของการมีคัมภีร์พื้นฐานเพื่อใช้ในการเผยแผ่ พิธีกรรม การปฏิบัติธรรม และวิธีการเพื่อการบรรลุถึงเป้าหมายในอุดมคติ คือ การได้อุบัติยังสุขาวดีพุทธเกษตรวิสุทธิภูมิเบื้องทิศตะวันตก ซึ่งแนวความคิดดังกล่าวมีอิทธิพลต่อการสร้างเสริมศรัทธาแก่พุทธศาสนิกชน ส่งผลต่อการสร้างสรรค์ด้านศิลปวัฒนธรรม วรรณกรรม และผูกพันธุ์อยู่ในวิถีชีวิตชาวพุทธมหายาน โดยได้รับการสืบทอดจนสามารถจัดตั้งเป็นนิกายหนึ่งในพระพุทธศาสนามหายาน ได้แก่ “นิกายสุขาวดี”

การตีความเรื่องสุขาวดีนี้ มีการอธิบายมาแต่ครั้งอดีต และพัฒนามาเป็นรูปแบบการตีความในปัจจุบัน ซึ่งสามารถแบ่งการตีความนี้เป็น ๓ กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ ๑ การตีความว่าสุขาวดีเป็นโลกภายนอก ซึ่งอธิบายในลักษณะของการพรรณนาให้รายละเอียด ตลอดถึงวิธีการเพื่อให้สามารถสำเร็จประโยชน์ต่อการบรรลุสู่วิสุทธิภูมิแห่งนั้น โดยการตีความกลุ่มนี้ สุขาวดีพุทธเกษตร เป็นดินแดนที่มีอยู่จริง หากแต่เป็นโลกธาตุที่ตั้งอยู่ห่างจากโลกนี้ออกไปทางทิศตะวันตก เป็นการตีความที่แสดงเรื่องของบุคคล สถานที่ กาล  กลุ่มที่ ๒ คือ การตีความว่าเป็นโลกภายใน ซึ่งการอธิบายว่า สุขาวดี  คือ สภาวะของจิตที่เข้าถึงคุณสมบัติของความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน หรือ มีความรู้แจ้งใน “โพธิ” พระอริยเจ้าทั้งหลายในสุขาวดี คือ ตัวแทนแห่งคุณธรรมอันมีประการต่างๆ ซึ่งสภาวะนั้นหาได้อยู่นอกตัว มิใช่โลกภายนอก แต่เป็นสุขาวดีในจิต เกิดที่จิต สำเร็จได้ที่จิตนี้เอง ดังนั้น สุขาวดีในแนวทางที่สองนี้ จึงแสดงเรื่องธรรมาธิษฐาน มุ่งเข้าถึงการรู้แจ้งสุขาวดีที่จิตของตน ส่วนกลุ่มที่ ๓ นั้น เป็นการตีความของแนวคิดพระพุทธศาสนาเพื่อสังคม ซึ่งมีความเห็นว่า สุขาวดีพุทธเกษตรนั้น สามารถสำเร็จได้ด้วยการปลูกฝังจิตที่เข้าใจในโพธิ และแสดงออกมาด้วยการสร้างสรรค์สังคมให้มีความสุข เป็นการสร้าง “สุขาวดีบนพื้นพิภพ” สามารถจับต้องได้ ด้วยการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ เพื่อการช่วยเหลือสังคมให้พบกับความสุข

จากการตีความเบื้องต้น พบว่าปัจจัยของการตีความแนวคิดแรกเป็นเรื่องของบุคคลาธิษฐานนั้น มีองค์ประกอบจากจารีตคัมภีร์ กรอบความคิดของผู้ตีความ สถานการณ์แวดล้อมทางสังคม และทัศนะทางความคิด ตลอดจนประสบการณ์ของผู้ตีความ สำหรับเครื่องมือที่เป็นปัจจัยของการตีความเชิงจิตนั้น พบว่า มีส่วนมาจากฐานความคิดเรื่อง สมมติสัจจะ ปรมัตถสัจจะ ทั้งความคิดที่จะเข้าใจถึงเจตนารมณ์อันแท้จริงของพระพุทธเจ้าและการเติมเต็มมิติด้านศรัทธา และ ปัญญา จึงส่งผลให้มีการแสดงออกของแนวคิดนี้ในรูปของธรรมาธิษฐาน ส่วนการตีความเพื่อสังคมนั้น ได้ตั้งอยู่บนฐานของการนำอุดมคติทางศาสนามาประยุกต์เข้ากับโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งพระพุทธศาสนาในสังคมไทยก็มีการใช้รูปแบบดังกล่าวในการอธิบายเรื่องนรก สวรรค์ และการนำพระพุทธธรรมเพื่อการสร้างสรรค์สังคม เช่นกัน

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕