บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาสภาพการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนวิถีพุทธตามทัศนะของผู้เรียน ๒) เพื่อเปรียบเทียบสภาพการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนวิถีพุทธ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานีเขต ๒ ตามทัศนะของผู้เรียน และ ๓) เพื่อศึกษาแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาโรงเรียนวิถีพุทธ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานีเขต ๒ ตามทัศนะของผู้เรียน
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียน ปีการศึกษา ๒๕๕๕ ซึ่งได้กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางสำเร็จรูปของ Krejcie and Morgan ในการกำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างจำนวน ๓๘๐ คน โดยวิธีการสุ่มอย่างง่าย
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม ลักษณะเป็นแบบตรวจสอบรายการ (Check list) และใช้แบบมาตราส่วนประมาณค่า(Rating Scale) ๕ ระดับและเป็นคำถามปลายเปิด
สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ค่าความถี่และค่าร้อยละ ใช้ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่า t และการทดสอบค่า F เมื่อพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ทำการทดสอบความแตกต่างด้วยวิธีของ Scheffe’
ผลการวิจัยพบว่า
๑. สภาพการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนวิถีพุทธสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานีเขต ๒ ตามทัศนะของผู้เรียน พบว่า โดยรวมทุกด้านมีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก
๒. การเปรียบเทียบสภาพการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนวิถีพุทธ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานีเขต ๒ ตามทัศนะของผู้เรียน ที่มีเพศอายุ ระดับการศึกษา ต่างกันโดยภาพรวม และรายด้านไม่แตกต่างกัน
๓. ข้อเสนอแนะและแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียนวิถีพุทธสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาอุบลราชธานีเขต ๒ ตามทัศนะของผู้เรียน
๓.๑ การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนต้องทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจต่อการเรียนและมีความหมายต่อการนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของนักเรียนได้
๓.๒ การใช้สื่อและนวัตกรรมเทคโนโลยี จะต้องให้ผู้เรียนเป็นกลุ่มที่เลือกใช้สื่อการเรียนรู้เหล่านี้ด้วยตนเองและแสวงหาสื่อการเรียนรู้จากนอกห้องเรียนเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของ
นักเรียน
๓.๓ การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรหาโอกาสที่สามารถส่งเสริมให้นักเรียนทำกิจกรรมร่วมกัน ที่มีระยะเวลาที่เพิ่มมากขึ้นต่อการเรียนวิชาพระพุทธศาสนาเช่นการทัศนศึกษาการเข้าค่ายคุณธรรมจริยธรรมเป็นต้น
๓.๔ การวัดผลและประเมินผลตามสภาพจริง ควรมีวิธีการง่ายต่อการวัดผล การพัฒนาวิธีการวัดผลและประเมินตามสภาพจริงของนักเรียนอาจจะหาข้อมูลจากสื่อต่างๆเช่นหนังสือพิมพ์ช่องโทรทัศน์ครู (Teacher channel) คู่มือการเรียนรู้ต่างๆเป็นต้นทำให้กระบวนการวัดผลและประเมินผลตามสภาพจริงนั้นเกิดทั้งประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ดาวน์โหลด |