บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบุคคลเชิงพุทธที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาหลักการและกระบวนการบริหารบุคคลของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และ ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์การบริหารบุคคลของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตามหลักการบริหารบุคคลเชิงพุทธ ทั้งนี้ได้ดำเนินการวิจัยโดยวิธีการวิจัยเชิงเอกสาร (Documentary Research) และสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth interview)
ผลการวิจัยพบว่า หลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบุคคลเชิงพุทธ ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา มีหลักธรรมที่สำคัญ ได้แก่ ทศพิธราชธรรม สัปปุริสธรรม ๗ พรหมวิหาร ๔ พละ ๕ อิทธิบาท ๔ สังคหวัตถุ ๔ ซึ่งหลักธรรมเหล่านี้จะช่วยให้การบริหารบุคคล ได้คนดี มีคุณภาพ และมีคุณธรรม พระพุทธเจ้าได้บริหารบุคคล โดยมีวิธีการต่าง ๆ เช่น (๑) การจัดโครงสร้างองค์กร (๒) การมอบอำนาจให้พระสงฆ์เป็นใหญ่ (๓) การคัดเลือกบุคคลเข้าบวช (๔) การสนทนาธรรม (๕) การฝึกอบรมและการพัฒนา (๖) การจัดภาระหน้าที่ (๗) การส่งเสริมด้วยปัจจัย ๔ (๘) การยกบุคคลมาเป็นแบบอย่าง (๙) การตรวจสอบทางวินัย ซึ่งกระบวนการเหล่านี้สามารถนำมาเป็นแนวทางในการบริหารงานบุคคลภายในองค์กรได้
หลักการและกระบวนการบริหารบุคคลของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ คือเป็นองค์กรที่พัฒนาระบบการบริหารจัดการด้านการเงินและการบัญชีของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร ให้โปร่งใส เข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้ ภายใต้หลักธรรมาภิบาลและการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี หลักคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณข้าราชการ เพื่อให้การบริหารงานบุคคลมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลมากขึ้น หลักการและกระบวนการบริหารบุคคล เกี่ยวข้องกับ (๑) การจัดองค์กรและออกแบบงาน (๒) การวางแผนกำลังคน (๓) การสรรหาและการคัดเลือก (๔) การบรรจุแต่งตั้งและการปฐมนิเทศ (๕) การฝึกอบรมและการพัฒนา (๖) การประเมินผลการปฏิบัติงาน (๗) การให้ค่าตอบแทนผลประโยชน์และสวัสดิการ (๘) การบำรุงขวัญและการจูงใจ (๙) ระเบียบวินัยและการควบคุม และแผนกลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคล โดยผู้ปฏิบัติงานต้องมีขีดความสามารถ สมรรถนะสูง มีผลงานที่โดดเด่น มีความรู้ ความสามารถ และมุ่งเน้นการพัฒนาผลงานให้สัมฤทธิ์ ตามเกณฑ์ชี้วัด
แนวทางการแก้ไขปัญหาการบริหารบุคคลของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ตามหลักการบริหารบุคคลเชิงพุทธ เพื่อให้การบริหารงานบุคคล มีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ให้คนเป็นคนดี มีคุณภาพ และมีคุณธรรม ซึ่งจะต้องอาศัยหลักธรรมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกัน
ดังนั้นการบูรณาการพุทธศาสตร์เข้ากับศาสตร์อื่น ๆ ถือว่าสำคัญ ศาสตร์ทั้งหลายสอนให้คนมีความรู้ มีความสามารถในการประกอบอาชีพ ส่วนศาสนาสอนให้คนรู้ว่าอะไรควรไม่ควร สอนคนให้เป็นคนดี ถ้าทั้งศาสตร์และศาสนาร่วมมือกัน ในองค์กรก็จะได้คนทั้งเก่งและดีมาทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ดาวน์โหลด |