บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๑) เพื่อศึกษาความเป็นมาของประชาคมอาเซียน ๒) เพื่อศึกษาการเตรียมความพร้อมของพุทธศาสนิกชนไทยสู่ประชาคมอาเซียน ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์การเตรียมความพร้อมของพุทธศาสนิกชนไทยสู่ประชาคมอาเซียน
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ เน้นศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร โดยมีวิธีการดำเนินการวิจัย ๑) สำรวจเอกสารและรวบรวมข้อมูลเอกสารที่เกี่ยวข้องจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ประกอบด้วยเอกสารงานวิจัย บทความ หนังสือ ตำรา บันทึก สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ๒) เก็บรวบรวม จัดลำดับข้อมูลที่ค้นคว้าได้มาวิเคราะห์ อธิบายความ และแสดงเหตุผล เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ชัดเจนมากที่สุด ๓) สรุปและนำเสนอข้อมูล
ผลการวิจัยพบว่า
๑. ประชาคมอาเซียน ถือกำเนิดโดยการรวมตัวของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ๕ ประเทศ คือ ๑.สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ๒.ประเทศมาเลเซีย ๓.สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ๔.สาธารณรัฐสิงคโปร์ และ ๕.ราชอาณาจักรไทย ตั้งแต่ปี ๒๕๑๐ โดยมีความมุ่งหมายเพื่อความมั่นคงในภูมิภาคที่ต้องการป้องกันภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East Asian Nations : ASEAN) ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกทั้งหมด ๑๐ ประเทศ ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม ปี ๒๕๔๖ ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน เห็นชอบให้จัดตั้งเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อกรความซับซ้อนผันผวนของโลกทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อสนับสนุนให้อาเซียนรวมตัวเป็นชุมชนหรือประชาคมเดียวกันและร่วมมืออย่างรอบด้านให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๓ (ค.ศ. ๒๐๒๐) แต่ต่อมาได้ตกลงที่จะร่นระยะเวลาจัดตั้งเป็นปี ๒๕๕๘
๒. การเตรียมความพร้อมของพุทธศาสนิกชนไทยสู่ประชาคมอาเซียน ใน ๓ ส่วนงานหลักที่ปรากฏเด่นชัด คือ ๑. องค์กรภาครัฐ ที่มีความเกี่ยวข้องในการกำกับดูแลพระพุทธศาสนา ๒ หน่วยงาน ได้แก่ ก)สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ข)กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร, สถานที่, การพัฒนาศักยภาพองค์กร, งบประมาณ และเทคโนโลยีสารสนเทศ ๒. องค์กรคณะสงฆ์ ได้แก่ ก)มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ข)มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านนิสิต, บุคลากร, หลักสูตร,งบประมาณ, เทคโนโลยีสารสนเทศ, และความร่วมมือประสานงานกับองค์กรต่างๆ ๓. องค์กรเอกชน ได้แก่ ก)มูลนิธิพุทธอุทยานนานาชาติ ข)ชมรมกัลยาณธรรม ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่, และเทคโนโลยีสารสนเทศ
๓. จากการวิเคราะห์การเตรียมความพร้อมของพุทธศาสนิกชนไทยสู่ประชาคมอาเซียน ใน ๓ ส่วนงานหลักนั้น องค์กรภาครัฐ ทั้ง ๒ หน่วยงานดังกล่าว ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรและการพัฒนาศักยภาพองค์กรแล้ว โดยการจัดให้มีกิจกรรมการส่งเสริมความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากร และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาการดำเนินงานองค์กร ที่เด่นชัดคือสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้มีการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่ และกรมการศาสนาก็ได้มีการเตรียมความพร้อมในด้านงบประมาณ แต่สิ่งที่น่าสังเกตคือยังไม่มีการเตรียมความพร้อมด้านภาษา ทั้งภาษาอังกฤษ และภาษาอาเซียนแต่อย่างใด ในส่วนองค์กรคณะสงฆ์ ได้แก่ มหาวิทยาลัยทั้งสองแห่ง มีการเตรียมความพร้อมด้านนิสิต และบุคลากร โดยการจัดพัฒนาด้านภาษาอังกฤษและกิจกรรมส่งเสริมความรู้ประชาคมอาเซียน ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีบริการเว็บไซด์ภาคภาษาอังกฤษ และความร่วมมือประสานงานกับองค์กรต่างๆแล้ว นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้มีการเตรียมความพร้อมด้านหลักสูตร โดยการร่างหลักสูตรพุทธศาสนากับอาเซียน พร้อมทั้งยังมีการเตรียมความพร้อมด้านงบประมาณไว้แล้ว ส่วนองค์กรเอกชน คือ มูลนิธิพุทธอุทยานนานาชาติ ได้เตรียมความพร้อมด้านสถานที่ โดยการจัดสร้างพุทธอุทยานนานาชาติ แต่ยังไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมด้านอื่นๆ ขณะที่ชมรมกัลยาณธรรมมีการเตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยการเปิดบริการผ่านเว็บไซด์ภาคภาษาอังกฤษ เพื่อเผยแพร่หลักธรรมและตอบปัญหาธรรมะทางอินเตอร์เน็ต แต่ก็ยังไม่มีบริการภาษาอาเซียน
ดาวน์โหลด
|