บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อเพื่อ ๑) ศึกษาปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อสตรีใน
สังคมไทย ๒) ศึกษาแนวทางป้องกันและวิธีแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อสตรี ตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และ ๓) ประยุกต์หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาความรุนแรงทางเพศต่อสตรีในสังคมไทย ผลการวิจัยพบว่า
ความรุนแรงทางเพศต่อสตรีในสังคมไทยมีสาเหตุจาก ๒ ปัจจัยคือ ๑) ปัจจัยภายในคือ
ตัวสตรีเอง ๒) ปัจจัยภายนอกได้แก่ อิทธิพลการเลี้ยงดูจากครอบครัว สิ่งแวดล้อมไม่ปลอดภัย ชายหญิงประพฤติตนตามอำนาจกิเลสกามไม่ถูกต้อง และประกอบมิจฉาชีพด้านวัตถุกาม
ความรุนแรงทางเพศต่อสตรีในพระพุทธศาสนามี ๒ สมัยคือ ๑) ก่อนพุทธกาลเมื่อพระโพธิสัตว์บำเพ็ญบารมี กรณีศึกษา นางอมิตตาภรรยาสาวพราหมณ์ยาจกชูชกชรา และ ๒) ในพุทธกาล กรณีศึกษา พระอุบลวรรณาเถรีถูกข่มขืนในกุฎิกลางป่า พระเจ้าปเสนทิโกศลมีความใคร่ในภรรยาผู้อื่นใช้อำนาจกลั่นแกล้งชายผู้เป็นสามี และนางอุตตราถูกนางสิริมาโสเภณีตักน้ำมันเดือดรดศีรษะ มีสาเหตุจาก ๑) อิทธิพลการเลี้ยงดูจากครอบครัว ๒) ตัวสตรีเอง ๓) สิ่งแวดล้อมไม่ปลอดภัย และ ๔) ชายหญิงประพฤติตนตามอำนาจกิเลสกามที่ไม่ถูกต้อง แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาคือ ชายหญิงต้องพัฒนาตนเอง ควบคุมกิเลสกามด้วย อริยวัฑฒิธรรม ๕ คบหามิตรแท้
หาคู่ครองสมตนด้วย สมชีวิธรรม ๔ และครองเรือนให้ดีด้วย ฆราวาสธรรม ๔
ลักษณะที่บุรุษและสตรีปฏิบัติต่อกันด้วยอำนาจกิเลสกามที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรม ส่งผลให้สตรีไทยกลายเป็นเหยื่อความรุนแรงทางเพศถึงขั้นทำแท้งมากเป็นอันดับ ๒ ของโลก ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่เป็นบุคคลใกล้ชิด เช่น สามี คู่รัก เพื่อน สถานที่ส่วนใหญ่อยู่บ้าน และเกิดเวลากลางคืน สาเหตุสำคัญคือ บุรุษและสตรี ๑) ขาดอริยวัฑฒิธรรม ๕ ได้แก่ ขาดความเคารพศรัทธาในพระธรรม ไม่เชื่อเรื่องผลของกรรม ไม่เคารพตนเอง ไม่เคารพบุคคลในทิศ ๖ ขาดสุตะไม่ศึกษาธรรม ไม่ศึกษาเพศรอบด้านให้เข้าใจ ขาดจาคะความเห็นแก่ตัว ขาดปัญญาไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิด จึงปฏิบัติต่อตนเองและบุคคลในทิศ ๖ ด้วยอำนาจกิเลสกามที่ไม่ถูกต้องเป็นธรรม ๒) ยุ่งเกี่ยวอบายมุข ได้แก่
ดื่มสุรา เที่ยวกลางคืน คบเพื่อนชั่ว และ ๓) ประกอบมิจฉาชีพเกี่ยวกับวัตถุกาม
การประยุกต์หลักธรรมเพื่อป้องกันปัญหาเป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคนไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือสตรีต้องปฏิบัติร่วมกัน มีอยู่ ๓ ระดับ คือ ๑) ระดับบุคคล ด้วยอริยวัฑฒิธรรม ๕ ได้แก่ เคารพศรัทธาศึกษาพระธรรม เคารพบิดามารดา ครูอาจารย์ ศึกษาเพศศึกษารอบด้านให้เกิดปัญญามีความเข้าใจ มีหิริละอายต่อการทำความชั่ว ละเว้นอบายมุข เคารพและปฏิบัติต่อตนเองเรื่องเพศอย่างถูกต้องปลอดภัย ๒) ระดับครอบครัว นำ สมชีวิธรรม ๔ ในการเลือกคู่ครอง ปฏิบัติตนในการครองเรือนด้วย ฆราวาสธรรม ๔ ได้แก่ เคารพซื่อสัตย์ในคู่ครองของตน ฉลาดทางอารมณ์ อดทน เสียสละ ปฏิบัติหน้าที่บิดามารดาในฐานะต้นแบบ ครูคนแรก ครูสอนเพศศึกษารอบด้านที่ถูกต้องแก่บุตร ๓) ระดับสังคม ได้แก่ บุรุษไม่บังคับขืนใจ หรือล่อลวงสตรีให้มีเพศสัมพันธ์ด้วย ไม่ล่วงละเมิดทางเพศต่อคู่ครองคนอื่น ต่อเพื่อน ต่อผู้บังคับบัญชา และต่อผู้ใต้บังคับบัญชา ครู
สอนเพศศึกษารอบด้านแก่ลูกศิษย์ และประกอบสัมมาชีพเกี่ยวกับวัตถุกามด้วยความสุจริต ผลิต และเผยแพร่สื่อเพศศึกษารอบด้านอย่างถูกต้องเป็นธรรม
การประยุกต์หลักธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นแก่ผู้ถูกกระทำ และผู้กระทำความรุนแรงทางเพศ ด้วยการยอมรับผลกรรม และมุ่งแก้ไขปรับปรุงตนเองด้วยการปฏิบัติตามหลักธรรม
เพื่อป้องกันปัญหาทั้ง ๓ ระดับ เพื่อไม่ให้เกิดความรุนแรงทางเพศต่อสตรีซ้ำอีก
ดาวน์โหลด
|