บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาหลักศีล ๕ ในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาพฤติกรรมของบุคคลในสังคม (๓) เพื่อประยุกต์หลักศีล ๕ พัฒนาพฤติกรรมของบุคคลในสังคม และการวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร (Document Research) ใช้ข้อมูลจาก คัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา และเอกสารหนังสือ รวมทั้งวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวข้องกับงานวิจัย และนำข้อมูลมาวิเคราะห์เรียบเรียงเชิงพรรณนาวิเคราะห์ ผลการศึกษาพบว่า
ศีล ๕ เป็นหลักมนุษยธรรม เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือ การไม่ฆ่าสัตว์ การไม่ลักทรัพย์ การไม่ประพฤติผิดในกาม การไม่พูดเท็จ และการไม่ดื่มสุราเมรัย ศีล เป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมเป็นลักษณะ มีความปรกติทางกายวาจาเป็นที่ตั้ง โดยมีองค์ประกอบของศีล ๕ แต่ละข้อ คือ เจตนา เป็นความไม่ก้าวล่วงทางกาย และวาจา ให้พ้นจากความชั่วทั้งปวง ย่อมมีความสงบสันติสุขในชีวิตปัจจุบัน และอนาคตเป็นอานิสงส์ และในตรงกันข้าม โทษของการละเมิดศีล เป็นเหตุให้ประมาทเป็นบ่อเกิดแห่งภัยเวรโดยประการต่างๆ ย่อมประสบทุกข์ทั้งในปัจจุบัน และสัมปรายภพ บั่นทอนความก้าวหน้าความเจริญ และความสงบสันติสุขในการดำเนินชีวิต
พฤติกรรมของมนุษย์ เป็นผลอันเกิดจากการปฏิกิริยาโดยอาศัยระบบต่างๆ ทางร่างกาย และจิตใจ คือ ระบบประสาท กล้ามเนื้อ ระบบต่อม และสิ่งเร้าสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดสภาวะจิตใจที่รับรู้อารมณ์ จึงแสดงพฤติกรรมต่างๆ ออกมาทางกาย วาจา และใจ และแสดงพฤติกรรมตอบสนองต่ออารมณ์นั้นๆ ทั้งด้านที่ดี และในด้านที่ไม่ดี กล่าวคือ พฤติกรรมด้านที่ไม่ดี เป็นพฤตกรรมที่แสดงออกมาต่อโลกภายนอก ที่ประกอบด้วยการประพฤติผิดในศีล ๕ มีการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การประพฤติผิดในกาม การพูดเท็จ การดื่มสุราเมรัย และขาดความเมตตากรุณา ความซื่อสัตย์สุจริต ใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผลในการตัดสินปัญหา ส่วนพฤติกรรมด้านที่ดี เป็นพฤติกรรมที่แสดงออกมาต่อโลกภายนอก ที่มีความซื่อสัตย์สุจริต มีหิริ โอตตัปปะ มีเมตตากรุณาประพฤติชอบทางกายวาจา และใจ เป็นที่ตั้ง
หลักศีล ๕ ประยุกต์พัฒนาพฤติกรรมที่ไม่ดี คือ การนำหลักศีลไปประพฤติปฏิบัติพัฒนาพฤติกรรมของบุคคลในสังคมที่ประพฤติผิดในศีล ให้ประพฤติชอบทางกายวาจา และใจ โดยอาศัยองค์ธรรมในศีล ๕ ประการ คือ “เจตนา” เป็นเครื่องงดเว้นพฤติกรรมที่ไม่ดีที่เกิดขึ้นมาทางกายวาจา และใจ เพื่อให้ ลด ละ เลิก เว้น พฤติกรรมที่ไม่ดี เป็นพื้นฐานให้เกิดคุณธรรมต่างๆ คือ ความมีเมตตา กรุณา มีหิริ โอตตัปปะ ความซื่อสัตย์สุจริตให้ดำเนินชีวิตให้ถูกต้องตามแนวทางพระพุทธศาสนา
หลักศีล ๕ ประยุกต์พัฒนาพฤติกรรมที่ดี คือ การนำหลักศีลไปประพฤติปฏิบัติ โดยประกอบด้วยธรรมหลายๆ อย่าง โดยอาศัยจิตใจเป็นที่ตั้ง ให้ความประพฤติชอบทางกาย วาจา มีความสงบเรียบร้อยมากยิ่งขึ้น คือ (๑) มีเจตนาตั้งใจเว้น (๒) มีเจตสิก คือ ความงดเว้น (๓) มีความสังวรด้วยสติ (๔) มีความไม่ก้าวล่วงกิเลสอย่างหยาบทางกายวาจา จึงเป็นศีลประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ มีความสำรวมระวัง ทำให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขสงบสันติ ดำเนินชีวิตถูกต้องตามแนวทางพระพุทธศาสนา และดับทุกข์ได้ในที่สุด
ดาวน์โหลด |