งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณ ศึกษาเทคนิคและรูปแบบการเผยแผ่พุทธธรรมของพระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี การวิจัยนี้เป็นการวิจัยภาคเอกสารและภาคสนาม ใช้แบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์เก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบ Random Sampling Method จากกลุ่มตัวอย่างของผู้เข้าปฏิบัติกรรมฐานและประชาชนทั่วไปที่มาฟังธรรมและทำบุญที่วัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี ระหว่าง วันที่ ๑๑-๒๙ มีนาคม ๒๕๔๕ จำนวน ๒๐๐ คน และใช้แบบสัมภาษณ์ สัมภาษณ์พระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์ทางสถิติหาค่าร้อยละ โดยใช้โปรแกรม SPSSX จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ปรากฏผลการวิจัย ดังนี้ ๑. การศึกษาวิจัยพบว่า พระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) ได้ใช้เทคนิคและรูปแบบการเผยแผ่พุทธธรรมโดยยึดเทคนิคและรูปแบบการสอนและการสื่อสารตามแนวพุทธ ผสมผสานกับหลักนิเทศศาสตร์ทั่วไป สื่อหลักคำสอนจากพระไตรปิฎกและการสอนวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ โดยมีลักษณะเฉพาะในอิริยาบถยืน คือ ให้ผู้ปฏิบัติกำหนดอิริยาบถยืน โดยบริกรรมว่า “ยืนหนอๆ ๆ” ๕ ครั้ง กำหนดเป็นอนุโลมปฏิโลม (กลับไปกลับมา) จากบน (ศรีษะ) ลงล่าง (เท้า) และจากล่างขึ้นบนสลับกัน ๕ ครั้งจึงก้าวเดินซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบการสอนวิปัสสนากรรมฐานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของสำนักวัดอัมพวัน จังหวัดสิงห์บุรี ๒. การศึกษาวิจัยครั้งนี้ยังพบว่า ประชาชนที่เข้าไปปฏิบัติกรรมฐานฟังธรรมและทำบุญที่วัดอัมพวัน ส่วนใหญ่ร้อยละ ๔๘.๕ เป็นข้าราชการและผู้มีฐานะดีมีรายได้ ตั้งแต่ ๑๐,๐๐๐ บาทขึ้นไป และมีการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาตรีขึ้นไป ส่วนสื่อที่ประชาชนได้รับข้อมูลจากพระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ตอบว่า ได้แก่ หนังสือธรรมะ เอกสารสิ่งพิมพ์ และนิตสารคิดเป็นร้อยละ ๔๗.๐ และผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่สนใจในเรื่องการปฏบัติกรรมฐาน และเรื่องกฎแห่งกรรมที่สอนโดยพระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) ซึ่งแสดงให้เห็นชัดเจนว่าประชาชนส่วนมากที่มาวัดอัมพวันนี้ มีความศรัทธาเลื่อมใสในหลักธรรมคำสอนและแนวการสอนของ พระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) ๓. นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยครั้งนี้ยังทำให้ทราบว่า การเผยแผ่พุทธธรรมของพระเทพสิงหบุราจารย์ (จรัญ ฐิตธมฺโม) ประสบผลสำเร็จอย่างสูงยิ่ง เพราะได้ดำเนินการตามเทคนิคและรูปแบบการสื่อสารตามแนวพุทธ โดยได้นำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เทป วีดีโอ หนังสือ และสื่อมวลชนอื่นๆ เข้ามาช่วย และตัวท่านเองก็มีกลยุทธ์ในการโน้มน้าวใจให้ผู้ฟังเกิดความศรัทธา กล้าหาญ เลื่มใส เร้าใจ อยากฟังและนำไปปฏิบัติตาม ซึ่งเป็นแบบอย่างต่อผู้เผยแผ่และวิธีการเผยแผ่พุทธธรรมที่จะนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างยิ่งยวดต่อพระพุทธศาสนาสืบไป