หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระภัทธชาพงษ์ สิริภทฺโท (ก่ำชัยภูมิ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๐ ครั้ง
การศึกษาหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในบทสูตรขวัญอีสานเพื่อการดำเนินชีวิต
ชื่อผู้วิจัย : พระภัทธชาพงษ์ สิริภทฺโท (ก่ำชัยภูมิ) ข้อมูลวันที่ : ๓๐/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระเมธีสุตาภรณ์ ,ดร. ป.ธ.๙, พ.ม., MA.,Ph.D
  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เกียรติศักดิ์ นาคประสิทธ์ กศ.บ.,กศ.ม.,Ph.D
  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรพงษ์ คงสัตย์ ป.ธ.๔, MA., ปร.ด.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์นี้  มีวัตถุประสงค์ของการวิจัยคือ (๑)เพื่อศึกษาพิธี สู่ขวัญบายศรี และบทสูตรขวัญอีสาน (๒)  เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในบทสูตรขวัญอีสาน (๓)  เพื่อประยุกต์หลักพุทธธรรมที่ปรากฏในบทสูตรขวัญอีสานเพื่อการดำเนินชีวิตใช้ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยเชิงเอกสาร (Document Research) ผลการศึกษาพบว่า

การบายศรีสู่ขวัญ คือวัฒนธรรม ประเพณีไทย และของชาวไทยอีสาน เป็นการปฏิบัติบูชาศักดิ์สิทธิ์สร้างความเป็นศิริมงคลเป็นลักษณะของการกล่าวบูชา สรรเสริญ อัญเชิญ อ้อนวอน บวงสรวง เทพยาดา สิ่งศักดิ์สิทธิ์  ให้ประสพแต่สิ่งดีงามในวาระต่าง ๆ ของชีวิตการบายศรีสู่ขวัญมี ๓ ประเภท คือ การบายศรีสู่ขวัญคน สัตว์และสิ่งของจากการที่ได้ทำพิธีการบายศรีสู่ขวัญ ซึ่งเป็นหลักความเชื่อการบูชาทางศาสนาพราหมณ์ และผสมผสานกับอิทธิพลในทางพระพุทธศาสนาดังนั้น บทสูตรขวัญอีสาน คือ การประพันธ์คำที่ใช้ในการสู่ขวัญ  เป็นท่วงทำนองภาษาพื้นเมืองอีสาน  แบบร้อยกรองประเภทร่าย

หลักพุทธธรรมที่ปรากฏในบทสูตรขวัญอีสานพบว่า หลักพุทธธรรมที่ปรากฏในบทสูตรขวัญนาค ได้แก่ คุณของพระรัตนตรัย, มาร,  กฎไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา,อภิณหปัจเวกขณ์ ๕, ปาฏิโมกข์, วุฒิธรรม ๔, อภิญญา ๖, อธิปเตยะ,  บุคคลหาได้ยาก๒, ศรัทธา, โสดาบัน,ธุระทางพระศาสนา, กรรมฐาน ๔๐  , ปัญญา, อกุศลกรรม, พรหมจรรย์, หลักธรรม หลักของสัทธิวิหาริก และอันเตวาสิก, การทำเคารพ, กรรมฐาน, อรหันต์, นิพพาน, เละโอฆสงสารหลักหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในบทสูตรขวัญแต่งงาน ได้แก่ เบญจศีลเบญจธรรม, ทาน, กรรม, เมตตา, อบายมุข ๖, บุญกิริยาวัตถุ ๓, อุโบสถศีล, ฆราวาสธรรม ๔,  ทิศ ๖  ปัจฉิมทิศ  คือทิศเบื้องหลัง, ภรรยา ๗,โอวาท ๑๐ ประการในการเป็นแม่ศรีเรือน  และหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในบทสูตรขวัญผู้นำชุมชน ได้แก่ พรหมวิหารธรรม, อคติ,  หลักธรรมเรื่องอริยมรรค หรือ มรรค มีองค์ ๘, เบญจศีล,ความไม่ประมาท, สังคหวัตถุ ๔,ธรรมเป็นโลกบาล, สุจริตและสัปปุริสธรรม ๗

การประยุกต์หลักพุทธธรรมใช้ในการดำเนินชีวิต คือในบทสูตรขวัญนาคในการดำเนินชีวิตกับการพัฒนาตน สามารถนำมาประยุกต์ด้วยหลักพุทธธรรม คือ บุคคลหาได้ยาก ๒,ไตรลักษณ์ ๓และกัมมัฏฐาน การระลึกนึกถึงบุญคุณของบิดามารดา ผู้มีอุปการคุณ การบวช ถือกันว่าได้ตอบแทนบุญคุณบิดามารดา เมื่อบวชแล้วได้ศึกษาหลักธรรม นำมาประพฤติปฏิบัติตน เกิดความไม่ประมาทในตน มองเห็นสัจธรรม ตามกฎไตรลักษณ์ และสิ่งที่พัฒนาตนไปจุดสูงสุดของชีวิตมนุษย์ การได้ศึกษาเรียนรู้การปฏิบัติกรรมฐาน อันเป็นการปฏิบัติอันยิ่งใหญ่ สามารถนำพาให้ชีวิตพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้นั้นคือ พ้นจากวัฏสงสารเข้าสู่พระนิพพานได้ในที่สุดในบทสูตรขวัญแต่งงานมีหลักพุทธธรรมที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในประจำวันในการครองเรือน ได้แก่ หลักเบญจศีลเบญจธรรมรู้จักบาป รู้จักบุญ  ให้รู้จักทำบุญให้ทาน ให้รู้จักรักษาศีลเข้าวัดฟังธรรมในวันพระ นอกจากนี้ยังมีศิลปะในการครองชีวิตคู่ ให้ประสพผลสำเร็จ หลักการปฏิบัติตนเป็นสามี ภรรยาที่ดี และการเป็น ลูกเขย เป็นลูกสะใภ้ที่ดี ซึ่งสามารถนำไปพัฒนาสถาบันครอบครัวให้เกิดความสุขและมั่นคงได้และบทสูตรขวัญผู้นำชุมชนประกอบด้วยหลักพุทธธรรม เหมาะสำหรับการนำมาประยุกต์ใช้กับการเป็นผู้นำชุมชนที่ดี  มี ๓ ด้านด้วยกัน คือ ด้านการบริหารตนเอง  ด้านการบริหารงาน และด้านการบริหารบริการสังคมเริ่มจากการมีพรหมวิหาร ๔ อันเป็นธรรมของผู้นำ ผู้ปกครอง ที่ควรมีประจำตนอยู่เสมอ ในการพัฒนาชุมชนของตนเอง  การปกครองผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชา หรือชุมชนจะก่อให้เกิดความเสมอภาคซึ่งกันและกันผู้นำที่ดีควรยึดหลัก อคติ ๔ คือการไม่มีความลำเอียงข้างใดข้างหนึ่ง ในการปกครอง แบ่งปันผลประโยชน์ ให้ทั่วถึงกันในชุมชน มีสังคหวัตถุ ๔ ประการ กับการทำประโยชน์ให้สังคม และทำงานรับใช้ประชาชน ด้วนความซื่อสัตย์ สุจริต ยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก

 ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕