บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาความหมายและประเภทของวจีทุจริต (๒) เพื่อศึกษาเรื่องอาบัติที่สัมพันธ์วจีทุจริตในภิกขุปาติโมกข์ (๓) เพื่อวิเคราะห์สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทที่สัมพันธ์กับวจีทุจริตในภิกขุปาติโมกข์
ผลการวิจัยทำให้ทราบว่า วจีทุจริต หมายถึง การประพฤติผิดทางวาจา ความประพฤติไม่ดีทางวาจา ความประพฤติที่ทำให้เกิดความเสียหาย ความไม่ดี ไม่งามทางวาจา การกระทำทางวาจา ความประพฤติที่ทำให้เกิดความเสียหาย ความไม่ดีไม่งามทางด้านการพูด การสื่อสารโดยการใช้คำพูด การใช้วาจาในทางที่สังคมทั่วไปไม่ยอมรับนับถือ วจีทุจริตแบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ มุสาวาท ผรุสวาจา ปิสุณาวาจา และสัมผัปปลาปะ
อาบัติในภิกขุปาติโมกข์มี ๗ ประเภทคือ อาบัติปาราชิก สังฆาทิเสส อนิยต ถุลลัจจัย ปาจิตตีย์ ทุกกฎ ทุพภาษิต แต่อาบัติที่สัมพันธ์กับวจีทุจริตในภิกขุปาฏิโมกข์ มีเพียง ๓ ประเภทเท่านั้น ได้แก่ อาบัติปาราชิก อาบัติสังฆาทิเสส และอาบัติปาจิตตีย์ อาบัติดังกล่าวนี้ เป็นวจีทุจริต ดังนี้ คือ อาบัติปาราชิก อาบัติสังฆาทิเสส และอาบัติปาจิตตีย์ เป็นวจีทุจริตประเภท มุสาวาท ส่วนอาบัติสังฆาทิเสสและปาจิตตีย์นอกจากเป็นวจีทุจริตประเภท ปิสุณาวาจาแล้วยังเป็นวจีทุจริตประเภท ผรุสวาจาอีกด้วย
สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบท เพราะนอกจากทรงมีพระประสงค์เพื่อปกป้องชีวิตพรหมจรรย์ของภิกษุและคณะสงฆ์ให้เกิดความผาสุก และเพื่อป้องกันไม่ให้ภิกษุพูดเกี้ยวมาตุคามด้วยวาจาชั่วหยาบแล้ว พระองค์ยังทรงบัญญัติสิกขาบท เพื่อป้องกันภิกษุไม้ให้เกิดความบาดหมาง ทะเลาะวิวาททำลายกัน และที่สำคัญเพื่อทำให้คนที่ยังไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ในพระพุทธศาสนา และรักษาธรรมวินัยให้มั่นคงยั่งยืนตลอดไปอีกด้วย
ดาวน์โหลด
|