หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาอดิศักดิ์ อภินนฺโท (พินธะ)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์คติการสร้างพระพุทธรูปประจำวันเกิดในสังคมไทย
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาอดิศักดิ์ อภินนฺโท (พินธะ) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ, ผศ.ดร., ป.ธ. ๓, พธ.บ, พธ.ม. (ปรัชญา), Ph.D. (Philosophy).
  ดร. แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม, อบ., บ.ศ. ๙., ศศ.บ., พธ.ม., พธ.ด.
  ดร. ศศิวรรณ กำลังสินเสริม, คศ.บ., พธ.ม., พธ.ด.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๖
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                        วิทยานิพนธ์ฉบับนี้   มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ   คือ   (๑)  เพื่อศึกษาความเป็นมาของพระพุทธรูปประจำวันเกิดในพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาลักษณะและพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับ พระพุทธรูปประจำวันเกิด  (๓) เพื่อวิเคราะห์คติการสร้างพระพุทธรูปประจำวันเกิดในสังคมไทย 

                        จากการวิจัยพบว่า  ความเป็นมาของพระพุทธรูปประจำวันเกิดในพระพุทธศาสนาก็คือการบำเพ็ญพุทธกิจตลอด ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า  จึงเป็นมูลเหตุให้มีการสร้างพระพุทธรูปปางต่างๆ ขึ้น  เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระคุณ ๓ ประการ   คือ  ๑. พระบริสุทธิคุณ  ๒. พระปัญญาคุณ ๓. พระมหากรุณาธิคุณ  พระพุทธรูปประจำวันเกิดไม่ปรากฏหลักฐานในสมัยอดีต  แต่จากหลักฐานซึ่งมีอยู่ในสมุดตำราฉบับหลวง   สมัยรัชกาลที่ ๓  กรุงรัตนโกสินทร์   พบว่ามีพระพุทธรูปปางต่างๆ จำนวนหนึ่งกำหนดตามนพเคราะห์สำหรับบูชาในพิธีทักษา  ได้แก่  (๑) พระอาทิตย์  พระปางถวายเนตร  (๒) พระจันทร์  พระปางห้ามญาติ   (๓) พระอังคาร  พระปางไสยาสน์  (๔) พระพุธ  พระปางอุ้มบาตร  (๕) พระพฤหัสบดี  พระปางสมาธิ  (๖)  พระศุกร์  พระปางรำพึง  (๗) พระเสาร์  พระปางนาคปรก  (๘) พระราหู  พระปางป่าเลไลยก์   (๙) พระเกตุ  พระปางขัดสมาธิเพชร

                        ลักษณะและพิธีกรรมความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธรูปประจำวันเกิด  เป็นคติความเชื่อในวิชาโหราศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาแขนงหนึ่งในศาสนาพราหมณ์  กำหนดเอาลักษณะของพระพุทธรูปปางต่างๆ ให้เป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิด  แทนการบูชาเทวรูปของเทวดานพเคราะห์   และสร้างเสริมกำลังใจด้วยการกำหนดเอาพระปริตรแต่ละบทมาเป็นเครื่องสวดป้องกันอันเกี่ยวกับผลที่เทวดานพ-เคราะห์เข้าเสวยอายุ  แทนบทสวดของพราหมณ์   สำหรับผู้ปฏิบัติพิธีบูชานพเคราะห์   เพราะมีความเชื่อในคุณของพระรัตนตรัย  และมีความเชื่อว่าการบูชานพเคราะห์จะนำมาซึ่งความสุข

                        การวิเคราะห์คติการสร้างพระพุทธรูปประจำวันเกิดในสังคมไทย   แสดงออกถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมไทย   ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธรูปมาตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย  ดังนั้น  พระพุทธรูปประจำวันเกิดจึงเป็นเครื่องสักการบูชาที่เกี่ยวข้องกับคนไทย  เพราะคนไทยส่วน มากมีความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา  โดยการกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปซึ่งเป็นรูปแทนองค์พระพุทธเจ้า   และคนไทยได้นำหลักธรรมซึ่งสอดคล้องกับลักษณะพระพุทธรูปมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

ดาวน์โหลด     

                 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕