หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาบุณยเกียรติ วรธมฺโม (พลเยี่ยม)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๔ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์หลักธรรมที่เกื้อหนุนต่อการรักษาอุโบสถศีลของอุบาสกอุบาสิกาในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาบุณยเกียรติ วรธมฺโม (พลเยี่ยม) ข้อมูลวันที่ : ๒๙/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสังวราภิรักษ์, พธ.บ., MA., Ph.D.
  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุรพงษ์ คงสัตย์, ปธ.๔., ปวค., MA., Ph.D.
  ดร. เสรี ศรีงาม, ปธ. ๔., พธ.บ., MA., Ph.D.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                         การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยการศึกษาเก็บข้อมูลจากพระไตรปิฏกและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการศึกษา ๓ ประการ ได้แก่  (๑)  เพื่อศึกษาการรักษาอุโบสถศีลที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท (๒)  เพื่อศึกษาหลักธรรมที่เกื้อหนุนต่อการรักษาอุโบสถศีลในพระพุทธศาสนาเถรวาท  (๓) เพื่อวิเคราะห์หลักธรรมที่เกื้อหนุนต่อการรักษาอุโบสถศีลของอุบาสก อุบาสิกาในสังคมปัจจุบัน  ผลการศึกษาพบว่า

                         การรักษาอุโบสถศีลที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่าอุโบสถศีล มีความหมาย ๕ ประการ คือ (๑) การประชุมสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ในวันพระขึ้น-แรม ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และแรม ๑๔ ค่ำ เรียกว่า อุโบสถกรรม (๒) ศีลอุโบสถอันประกอบด้วยองค์ ๘ ประการ               (๓) การจำศีลด้วยการอดอาหารเรียกว่าการเข้าอยู่จำศีลอุโบสถ คือ ผู้เข้าไปอยู่อาศัยอดอาหารถือ           ศีลเป็นต้น (๔) นาม บัญญัติ (คือชื่อที่เรียก) เช่น เป็นชื่อของช้างตระกูลหนึ่งมีสีเป็นสีทอง เรียกว่าช้างตระกูลอุโบสถ และ(๕) วันที่เข้าอยู่จำด้วยศีลหรือด้วยอดอาหารอันเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เรียกว่า วันอุโบสถ วันที่พึงจำศีล  มี ๓ วัน คือวัน ๘ ค่ำ (เรียกวันอัฏฐมี)                         วัน ๑๔ ค่ำ (เรียกวันจาตุททสี) วัน ๑๕ ค่ำ (เรียกวันปัณณรสี) ความเป็นมาตามในคัมภีร์พระพุทธศาสนาการรักษาอุโบสถศีลในสมัยก่อนพุทธกาลนั้นเป็นไปในบุคคล ๓ จำพวก คือ                 (๑) พระโพธิ์สัตว์  (๒) พระเจ้าจักรพรรดิผู้ได้รับมูรธาภิเษก และ (๓) อุบาสก อุบาสิกา  โดยความสำคัญของอุโบสถศีล ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก มีความรุ่งเรืองมากแผ่ไพศาลมากว่า                 ซึ่งอานิสงค์ของการรักษาอุโบสถศีล คือ สามารถสร้างสวรรค์  สร้างความเสมอภาค และสร้างความปลอดภัยให้แก่มนุษย์ และให้สมบัติที่น่าปรารถนาแก่มนุษย์ผู้รักษาศีลอุโบสถ

                         หลักธรรมที่เกื้อหนุนต่อการรักษาอุโบสถศีลในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่าหลักธรรม หมายถึง ระเบียบกฎเกณฑ์ที่มีอยู่โดยตัวของมันเองในธรรมชาติ พระพุทธเจ้า             เป็นเพียงผู้ค้นพบ ปฏิบัติตาม เกิดผลที่ต้องการแล้วก็ประกาศให้คนอื่นรู้ เมื่อคนอื่นรู้แล้วปฏิบัติตามก็เกิดผลอย่างเดียวกันมีความสำคัญ คือ (๑)รักษาผู้ปฏิบัติธรรมให้อยู่เย็นเป็นสุข                            (๒) เป็นดุจอาภรณ์ประดับใจให้งดงาม  (๓) พัฒนาคนไปสู่ความเป็นกัลยาณชน (๔) ขจัดความชั่วออกจากจิตใจ และหลักธรรมที่เกื้อหนุนต่อการรักษาอุโบสถศีล ได้แก่ พรหมวิหาร ๔,  สัมมาอาชีวะ,  กามสังวร, สัจจะ, ธรรมมีอุปการะมาก ๒, อปัณณกปฏิปทา ๓, ธรรมอันทำให้งาม ๒,  และธรรมเป็นโลกบาล ๒ ซึ่งหลักธรรมจะช่วยให้อุบาสก อุบาสิการักษาศีลอุโบสถศีลได้สมบูรณ์

                         การวิเคราะห์หลักธรรมที่เกื้อหนุนต่อการรักษาอุโบสถศีลของอุบาสก อุบาสิกาในสังคมปัจจุบันพบว่าหลักธรรมในการสวดมนต์ของอุบาสก อุบาสิกา คือ การนำหลักสัจจะ พึงรักษาไว้เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของบทสวดมนต์มิให้ประพฤติปฏิบัตินอกจากที่พระพุทธองค์ไม่ทรงสอน สำหรับหลักธรรมในการปฏิบัติกรรมฐาน คือ อปัณณกปฏิปทา การปฏิบัติไม่ผิด ๓ อปัณณกปฏิปทา ได้แก่ การสำรวมอินทรีย์  การรู้จักประมาณในการกิน  การประกอบความเพียร ทั้งยังมีสติสัมปชัญญะ  คือ ความมีสติคอยตรวจตรา  ไม่เลินเล่อเผอเรอ  ประมาท  สิ่งที่ทำลายสติ คือ สุรา  และสิ่งเสพติดทั้งหลาย  ดังนั้นผู้ปฏิบัติธรรมศีลอุโบสถจะต้องรักษาไว้อย่างเคร่งครัด ส่วนหลักธรรมในการควบคุมกิริยาบถทั้ง ๔ ประกอบไปด้วย กามสังวร (ความสำรวมในกาม)                  ขันติ (ความอดทน) และโสรัจจะ (ความไม่ล่วงละเมิดทางกาย  วาจา และใจ)  และหลักธรรมในการดำเนินชีวิต ได้แก่ หลักพรหมวิหาร ๔ หลักสัมมาอาชีวะ และธรรมโลกบาล เพื่อให้ผู้ปฏิบัติรักษาอุโบสถศีลพึงกระทำและละเว้นเพื่อความบริสุทธิ์ของพรหมจรรย์ และหลักธรรมชั้นสูงยิ่งๆ ขึ้นไปไม่ว่าจะเริ่มปฏิบัติธรรมตั้งแต่ขั้นตอนแรกจนถึงขั้นตอนสุดท้าย ได้แก่ (๑) การสวดมนต์และ              การแผ่เมตตา  (๒) การปฏิบัติกรรมฐาน (๓) การควบคุมกิริยาบถ (๔) การฟังธรรมและสนทนาธรรม และ (๕) การดำเนินชีวิต โดยมีหลักธรรมต่างๆ ที่กล่าวข้างต้น จะช่วยเกื้อหนุนให้การปฏิบัติรักษาอุโบสถศีลเป็นไปได้ด้วยดีและได้รับอานิสงส์แห่งการรักษาอุโบสถศีล

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕