บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาสถานภาพของสังคมไทย๒) ศึกษาความหมายหลักอธิษฐานธรรม ๔ กับการสร้างความสามัคคีในสังคมไทยและ ๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้หลักอธิษฐานธรรม ๔ เพื่อส่งเสริมความสามัคคีในสังคมไทย
งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยเอกสาร โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ตำราวิชาการ เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องผู้วิจัยได้วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลต่างๆ แล้วนำมาเรียบเรียงนำมาเสนอในเชิงพรรณนา
ผลการวิจัยพบว่า
๑) สถานภาพของสังคมไทยปัจจุบันมีเสรีภาพเกินขอบเขต มักใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล ความขัดแย้งอาจเริ่มที่เจตคติทางความคิด ทางลัทธิความเชื่อ หรือแม้แต่การดำเนินชีวิต ที่แตกต่างกัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดข้อพิพาทมากมายในสังคมกลายเป็นการแตกความสามัคคีของคนไทย ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ทำให้ประเทศชาติขาดความมั่นคงซึ่งแต่ก่อนนั้นสังคมไทยเคยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน มีความรักความสามัคคีกันฉันท์พี่น้อง และก็ยังอยากเห็นทุกคนกลับมาสามัคคีกันเหมือนเดิม
๒)ผลจากการศึกษาผู้วิจัยพบว่าอธิษฐานธรรม ๔หมายถึง ธรรมอันเป็นที่มั่นธรรมอันเป็นรากฐานที่มั่นคงของบุคคล เพื่อให้สามารถยึดเอาผลสำเร็จสูงสุดอันเป็นที่หมายไว้ได้ โดยไม่เกิดความสำคัญตนผิดและไม่เกิดสิ่งมัวหมอง หมักหมมทับถมตน ผู้ปฏิบัติตามหลักอธิษฐานธรรม ๔ ย่อมประกอบด้วยปัญญาไม่ไปสร้างความวุ่นวายในสังคม หลักอธิษฐานธรรม ๔ คือ ปัญญา (ความรู้ชัด) สัจจะ (ความจริง) จาคะ (ความสละ) และอุปสมะ (ความสงบ)เมื่อนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางใน
การดำเนินชีวิตร่วมกันในสังคมก็จะช่วยส่งผลให้สังคมไทยมีความสงบร่มเย็น เป็นชุมชนที่มีความสามัคคีน่าอยู่อาศัย
๓) แนวคิดเรื่องการส่งเสริมความสามัคคีในสังคมไทยตามหลักอธิษฐานธรรม ๔ มาประยุกต์ใช้ในสังคมไทยจากการศึกษา พบว่าสังคมไทยต้องการความเป็นหนึ่งเดียวของผู้คนในสังคม ด้วยการรวมพลังกันปฏิบัติแต่ในสิ่งที่ถูกต้องดีงามตามหลักการ ข้อบังคับ กติกา และศีลธรรม สิ่งที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสังคมไทยให้เดินหน้าไปสู่ความสามัคคี คือ ทุกคนใช้ปัญญาในการทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ดำรงมั่นในความจริงที่รู้ชัดด้วยปัญญา มีการสละสิ่งทั้งหลายอันผิดพลาดจากความจริงเสียได้ และใช้วิถีทางสันติระงับโทษข้อขัดข้องมัวหมองวุ่นวาย ทำจิตใจให้สงบได้ ถือความสามัคคีเป็นใหญ่ย่อมส่งผลให้เกิดความสงบสุขทั้งแก่ตนและสังคมอย่างแท้จริง
ดาวน์โหลด
|