บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ปทปรมบุคคลในคัมภีร์พระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาการอธิบายเรื่องปทปรมบุคคลของนักวิชาการไทย ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์การอธิบายเรื่องปทปรมบุคคล
ผลการวิจัยพบว่า ปทปรมบุคคลในคัมภีร์พระพุทธศาสนา หมายถึง “บุคคลผู้ไม่สามารถตรัสรู้ธรรม หรือบรรลุธรรมได้ในปัจจุบันชาตินั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญญาชนผู้คงแก่เรียนมามาก ปฏิบัติมามากอย่างที่เรียกว่า “พหูสูตบุคคล” หรือไม่ก็ตาม ถ้าไม่สามารถตรัสรู้ธรรม หรือบรรลุธรรมดังกล่าวได้ เรียกว่า “ปทปรมบุคคล” แต่เป็นบุคคลที่สามารถฝึกฝน อบรม และพัฒนาได้ตามหลักพุทธธรรม เป็นการอธิบายความในแง่พัฒนาการด้านคุณธรรม
ส่วนปทปรมบุคคลตามคำอธิบายของนักวิชาการไทย จำแนกเป็น ๒ นัย คือ นัยที่ ๑ หมายถึง “บุคคลที่ไม่สามารถตรัสรู้ หรือบรรลุธรรมได้ในปัจจุบันชาตินั้น ไม่ว่าจะเป็น ปัญญาชนผู้คงแก่เรียนมามาก ปฏิบัติมามากอย่างที่เรียกว่า “พหูสูตบุคคล” หรือไม่ก็ตาม ถ้าไม่สามารถบรรลุธรรมได้ เรียกว่า “ปทปรมบุคคล” แต่เป็นบุคคลที่สามารถพัฒนาได้ตามหลักพุทธธรรม” เป็นการอธิบายความในแง่พัฒนาการด้านคุณธรรม นัยที่ ๒ ปทปรมบุคคล หมายถึง “บุคคลที่ไม่สามารถเข้าใจ หรือเข้าถึงความหมายแห่งหลักคำสอนตามที่ได้ศึกษาเล่าเรียนมานั้นได้ด้วยวิธีการทางเหตุผล ไม่ว่าจะศึกษาเล่าเรียนมาน้อย หรือมากก็ตาม ทั้งไม่เกิดผลในแง่ที่เป็นพัฒนาการด้านคุณธรรมที่เกื้อกูลต่อการบรรลุธรรมได้ด้วย” เป็นการอธิบายความในแง่พัฒนาการด้านการศึกษาเรียนรู้และการปฏิบัติ
คำอธิบายปทปรมบุคคลของนักวิชาการไทยนัยที่ ๑ สอดคล้องกับคัมภีร์พระพุทธศาสนาทุกประการ เพราะเป็นการอธิบายในแง่พัฒนาการด้านคุณธรรม ส่วนคำอธิบายนัยที่ ๒ สอดคล้องกับคัมภีร์พระพุทธศาสนาบางคัมภีร์ เพราะเป็นการอธิบายความที่ครอบคลุมความหมายได้ทั้งในแง่พัฒนาการด้านคุณธรรม และในแง่พัฒนาการด้านการศึกษาเรียนรู้และการปฏิบัติด้วย ถึงจะเป็นการอธิบายความที่แตกต่างกัน แต่ก็เป็นความแตกต่างที่สอดคล้องกับอรรถกถาและฎีกาบางคัมภีร์นั้นเอง
ดาวน์โหลด
|