หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสร้างชาติสิริ จารุวณฺโณ (สุวรรณพุทธ)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๓ ครั้ง
การศึกษาเปรียบเทียบหลักการเชื่อในพระพุทธศาสนาเถรวาทกับศาสนาคริสต์ตามคติของนักบุญออเกิสติน
ชื่อผู้วิจัย : พระสร้างชาติสิริ จารุวณฺโณ (สุวรรณพุทธ) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ, ผศ.ดร. ป.ธ.๓, พธ.บ.,M.A.,Ph.D
  ผศ.ชำนะ พาซื่อ ป.ธ.๔, พธ.บ., M.A. (ปรัชญา)
  อาจารย์กฤต ศรียะอาจ ป.ธ.๔, พธ.บ., พธ.ม. (ปรัชญา)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

การศึกษาวิจัยนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาหลักการเชื่อในพระพุทธศาสนาเถรวาท กับการเชื่อของศาสนาคริสต์ตามคติของนักบุญออเกิสตินว่าเป็นอย่างไร และมีลักษณะที่เหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้าง

การวิจัยพบว่า “การเชื่อ” ในพระพุทธศาสนาเถรวาท  หมายถึง การเชื่อมั่นในความดี เป็นการเชื่อที่มีเหตุผลสนับสนุน เป็นศรัทธาคือการเชื่อที่มีปัญญากำกับ ชักนำให้อยู่ในลักษณะที่เชื่อตามความเป็นจริง   โดยมองให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างเหตุกับผลของสิ่งต่างๆ      พระพุทธศาสนาเถรวาท เน้นไม่ให้ตัดสินหรือลงความเห็นในเรื่องใด จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์ด้วยการลงมือปฏิบัติจนเห็นผลที่ได้รับจากประสบการณ์ตรง เพื่อให้ได้ศรัทธาคือการเชื่อที่มีเหตุมีผล การเชื่อหรือศรัทธาที่มีเหตุผลในพระไตรปิฎกหมายถึงตถาคตโพธิสัทธาอย่างเดียว แต่ในยุคหลังศรัทธาในพระพุทธศาสนาเถรวาทถูกกำหนดกรอบไว้ ๔ อย่าง คือ (๑) กัมมสัทธา (๒) วิปากสัทธา (๓) กัมมัสสกตาสัทธา (๔) ตถาคตโพธิสัทธา โดยสรุปแล้วก็มุ่งเน้นให้เชื่อกฎแห่งธรรมชาติ (law of nature) กฎแห่งการกระทำของปัจเจกบุคคล (law of  karma) หรือกฎแห่งเหตุผล (subject and object) และการเชื่อมั่นในพระรัตนตรัย ในฐานะเป็นแบบอย่าง และเป็นกฎที่เราจะต้องเข้าใจและปฏิบัติตามเพื่อความพ้นทุกข์

ส่วนการเชื่อของศาสนาคริสต์ตามคติของนักบุญออเกิสตินนั้น มีความหมายเหมือนกับการของชาวคริสต์ทั่วไป กล่าวคือมีเนื้อหาหลักที่สัมพันธ์อยู่กับเรื่องพระเจ้า หมายถึงการยึดติดของจิตใจกับความจริงเหนือธรรมชาติและการนอบน้อมของมนุษย์ที่ชื่นชมต่อพระเจ้า เป็นการมอบการเชื่อใจให้กับพระเจ้าจึงเป็นท่าทีถาวรที่มนุษย์เปิดใจยอมรับพระเจ้า โดยมีเหตุคือพระพรที่พระเจ้าทรงประทานให้แก่ทุกคน การเชื่อในขอบเขตของศาสนาคริสต์ตามคติของนักบุญออเกิสติน  จึงมี ๒ ประการคือ  (๑) การเชื่อพระเจ้า (๒) การเชื่อในพระเจ้า       

ในการเปรียบเทียบทรรศนะของศาสนาทั้ง ๒ ผู้วิจัยพบว่ามีทั้งลักษณะที่คล้ายคลึงกันและแตกต่างกัน ดังนี้ ในด้าน นิยามความหมาย ความสำคัญ การแบ่งประเภท และเป้าหมายสูงสุด มีลักษณะที่เหมือนกันและต่างกันไปตามหลักศาสนาของตนๆ ในด้านความเชื่อเรื่องสิ่งสูงสุดมีลักษณะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง       

ด้านการเชื่อคือศรัทธาญาณสัมปยุตกับการเชื่อเป็นเครื่องพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า มีความแตกต่างกันอย่างมาก กล่าวคือ การเชื่อคือศรัทธาญาณสัมปยุต เป็นการเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญา หรือเหตุผล มีการพิสูจน์ทดสอบด้วยปัญญาของตนให้เห็นเหตุผลชัดเจน จนมั่นใจ หมดความลังเลสงสัยก่อนจึงค่อยปักใจเชื่อ เป็นไปในลักษณะที่ว่าเข้าใจแล้วจึงเชื่อ ส่วนการเชื่อเป็นเครื่องพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า ในศาสนาคริสต์ตามคติของนักบุญออเกิสตินนั้น เชื่อว่าพระเจ้าเป็นสิ่งมีภาวะสูงสุดที่อยู่เหนือธรรมชาติ และมนุษย์ไม่อาจเข้าใจพระเจ้าได้อย่างแท้จริงดังที่พระเจ้าเป็น ความรู้ความเข้าใจในการมีอยู่ของพระเจ้าเป็นสิ่งสนองตอบจากเบื้องบน มาสู่จิตมนุษย์ที่มี ความเชื่อและการเชื่อเป็นสิ่งที่ช่วยเตรียมจิตมนุษย์ให้พร้อมจะแสวงหาเหตุผลมาสนับสนุนความเชื่อ การเชื่อในการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้าจึงเป็นสิ่งที่มาก่อนเหตุผลและความเข้าใจ เป็นไปในรูปแบบที่ว่าเชื่อเพื่อที่จะเข้าใจ

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕