หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูพิศิษฏ์ชัยโชติ (สำรวย โชติวโร)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๓ ครั้ง
ศึกษาวิริยะในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา
ชื่อผู้วิจัย : พระครูพิศิษฏ์ชัยโชติ (สำรวย โชติวโร) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสุรชัย วราสโภ ป.ธ.๗, พธ.บ., M.A., Ph.D.
  พระศรีสุธรรมมุนี ป.ธ.๘, ศน.บ.
  ผศ.เวทย์ บรรณกรกุล ป.ธ.๙, พธ.บ., ศษ.ม.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                      วิทยานิพนธ์  เรื่อง  ศึกษาวิริยะในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา  มีวัตถุประสงค์อยู่       ๒ ประการ คือ  เพื่อศึกษาเนื้อหาหลักธรรมวิริยะที่ปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาวิริยะในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา โดยการศึกษาข้อมูลจากตำราพุทธศาสนาเถรวาท           คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆที่เกี่ยวข้อง แล้วรวบรวมข้อมูล เรียบเรียง  บรรยายเชิงพรรณนาและตรวจสอบความถูกต้อง โดยอาจารย์ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาภาวนา

                      ผลการศึกษาพบว่า  วิริยะ หมายถึง  ความเพียร ๔ อย่าง ตรงกับบาลีว่า ปธาน  หรือ เรียก สัมมัปปธาน ๔  คือ สังวรปธาน  เพียรระวังไม่ให้บาปใหม่เกิดขึ้น  ปหานปธาน  เพียรละบาปเก่า  ภาวนาปธาน  เพียรเจริญให้กุศลเกิดขึ้น และอนุรักขนาปธาน  เพียรรักษากุศลที่เกิดขึ้นแล้ว

                      วิริยะในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา คือ สัมมาวายามะ ความเพียรชอบ อันได้แก่สัมมัปปธาน ๔  เป็นเครื่องประกอบในการกำหนดสติพิจารณาในกาย เวทนา จิต และธรรม  เพื่อให้เกิดปัญญารู้แจ้งรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์  เป็นการเห็นด้วยอัตตปัจจักขญาณ คือรู้ประจักษ์ตามความเป็นจริงจากการปฏิบัติของตนเอง  การกำหนดสติพิจารณานั้นจะต้องประกอบด้วยองค์แห่งวิปัสสนา คือ  ๑)อาตาปี   ความเพียรเป็นเครื่องเผากิเลส   ๒) สัมปชาโน มีปัญญาหยั่งเห็น       ๓)สติมา  มีสติ อยู่ทุกขณะแห่งการกำหนดรู้อันจะทำให้กำจัดเสียได้ซึ่งอภิชฌาและโทมนัส 

             ในการใช้ความเพียรในการปฏิบัติวิปัสสนาต้องเป็นมัชฌิมาปฏิปทา คือทางสายกลาง   ถ้าเคร่งตึงจนเกินไปก็ทำให้ใจฟุ้งซ่านหาสำเร็จกิจไม่  แต่ถ้าหย่อนเกินไปก็เกียจคร้านง่วงนอน  ด้วยเหตุนี้จึงควรปรับอินทรีย์คือ วิริยะกับสมาธิให้เสมอกัน  เพราะว่า หากวิริยะมากสมาธิอ่อน ผู้ปฏิบัติจะฟุ้งซ่าน  แต่หากสมาธิมากความเพียรอ่อนผู้ปฏิบัติจะเกียจคร้าน  ส่วนการปรับศรัทธากับปัญญาต้องให้เสมอกัน  เพราะถ้าศรัทธามากปัญญาน้อยผู้ปฏิบัติจะศรัทธาอย่างเดียวไม่มีปัญญาพิจารณาพระไตรลักษณ์  แต่ถ้าปัญญามากศรัทธาอ่อนผู้ปฏิบัติมักจะไม่อยากเชื่อครูอาจารย์  ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องใช้วิริยะคือความเพียรที่พอดี ไม่ตึงไม่หย่อนเกินไป และปรับอินทรีย์ให้สมดุลย์กัน จึงจะประสบผลสำเร็จในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕