บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้เป็นงานวิจัยเอกสาร โดยการศึกษาข้อมูลซึ่งประกอบด้วย พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา ปกรณ์วิเสส และเอกสารที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้คือ เพื่อศึกษา ปปัญจธรรมในมธุปิณฑิกสูตร และเพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในมธุปิณฑิกสูตร
ผลการวิจัยพบว่า มธุปิณฑิกสูตร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยเทศนาอันไพเราะ โดยที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาถึงหลักธรรมที่ทำให้เนิ่นช้าที่เรียกว่า ปปัญจธรรม ปปัญจธรรมเป็นชื่อของกิเลสกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ตัณหา มานะ ทิฏฐิ ที่เป็นกิเลสเครื่องเนิ่นช้า ที่ทำให้ผู้มีกิเลสเหล่านั้น ไม่สามารถแล่นออกไปจากภพได้ ปปัญจธรรมในมธุปิณฑิกสูตรได้แก่ ตัณหา ๑๐๘ มานะ ๙ ทิฏฐิ ๖๒ และการเกิดของปปัญจธรรมนั้น อาศัยอายตนะเป็นแดนเกิด
การนำหลักธรรม ในมธุปิณฑิกสูตรมาเป็นหลักธรรมในการเจริญวิปัสสนาภาวนา พบว่า ตัณหา มานะ ทิฏฐิ จัดเป็นกิเลสหรือเจตสิกธรรมที่เกิดร่วมกันกับจิตฝ่ายอกุศล โดยอาศัยอายตนะภายใน คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มากระทบกับอายตนะภายนอก คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์ อายตนะทั้ง ๑๒ ประการเหล่านี้ จัดเป็นภูมิวิปัสสนา หรืออารมณ์ของวิปัสสนาอย่างหนึ่ง
ในการศึกษา การปฏิบัติวิปัสสนาโดยการยึดอายตนะ ๑๒ คือการพิจารณา ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ โดยย่อคือ รูปนาม เช่น เมื่อมีรูปอะไรมากระทบทางตา รูปก็เป็นอายตนะภายนอก ตาก็เป็นอายตนะภายใน ที่เรียกกันว่า จักขุประสาท คู่กันกับ รูป อันเป็นอายตนะภายนอก รูปที่เป็นอายตนะภายนอกนี้ท่านก็เรียกว่ารูปะหรือรูป เป็นต้น. การมีสติพิจารณาในขณะที่รูปมากระทบที่ตาเพื่อให้เกิดสมาธิและปัญญารู้แจ้งรูปนาม โดยความเป็นพระไตรลักษณ์
ดาวน์โหลด |