บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ เรื่อง “ศึกษาอธิโมกข์ในการปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔” มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ เพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาอธิโมกข์อันเป็นวิปัสสนูปกิเลสที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทคือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วรวบรวมข้อมูล เรียบเรียง บรรยายเชิงพรรณนาและตรวจสอบความถูกต้อง โดยอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และผู้เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาภาวนา
ผลการวิจัยพบว่า สติปัฏฐาน ๔ ได้รูป ๑ กับนาม ๓ ซึ่งการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ชื่อว่า ภาวนา ดังหลักฐานที่ปรากฏในคัมภีร์อรรถกถาทีฆนิกายว่า ชื่อว่าการไม่ถูกต้องธรรมบางอย่างในกาย เวทนา จิต และธรรมทั้งหลายแล้ว ภาวนาย่อมไม่มี ดังนั้น การเจริญสติปัฏฐาน ๔ คือ การระลึกรู้ในอารมณ์ของรูป-นาม ชื่อว่า การกำหนดรู้สัจจะ ๓ อันเป็นญาณชั้นโลกิยะเท่านั้น คือ การกำหนดรู้ทุกขสัจจ์ด้วยการกำหนดรู้นามและรูป กระทำมาก่อนแล้วในทิฏฐิวิสุทธิ การกำหนดรู้สมุทยสัจจ์ด้วยการกำหนดรู้ปัจจัย กระทำมาแล้วในกังขาวิตรณวิสุทธิ การกำหนดรู้มัคค-สัจจ์ด้วยการจำกัดแต่เพียงมรรคโดยชอบ กระทำแล้วในมัคคามัคคญาณทัสสนวิสุทธิ ความรู้ว่าทางและมิใช่ทางนี้ ชื่อว่า ได้เกิดวิปัสสนา เพราะการรู้แจ้งเห็นจริงว่า รูปนาม เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง และเป็นอนัตตา
อธิโมกข์ หมายถึง ความตัดสินใจเชื่อโดยอาศัยวิปัสสนาญาณที่ดำเนินไป พบสภาวธรรมวิเศษ ๙ ในอุปกิเลส ๑๐
ในการปฏิบัติวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐานนั้นอธิโมกข์ปรากฏในหมวดธัมมานุปัสสนาซึ่งตรงกับหลักฐานในคัมภีร์ขุททกนิกายปฏิสัมภิทามรรคเรื่องธัมมุทธัจจะ หมายความว่า อธิโมกข์ชื่อว่า อุทธัจจะนั่นเอง ท่านให้เหตุผลว่า ผู้ที่หลงใหลในธรรมวิเศษที่เป็นปรากฏการณ์ใน อุทยัพพยญาณอ่อนๆ ซึ่งเป็นปัญญาที่ยังไม่แก่กล้า ด้วยอำนาจแห่งความยินดีพอใจในผลของการปฏิบัติที่เกิดขึ้นกับตน จนเป็นเหตุให้วิปัสสนาญาณเศร้าหมองไม่ผ่องใส ความหลงไหลในอมัคคะว่าเป็นมัคคะนี้ท่านเรียกว่า ความฟุ้งซ่านในทางธรรม ซึ่งต่างจากความฟุ้งของคนทั่วไป ความฟุ้งนี้เป็นธรรมที่ละเอียดประณีต เป็นสิ่งที่รู้ไม่ ได้ด้วยการนึกคิดพิจารณาใด ๆ
วิธีการปฏิบัติต่ออธิโมกข์ ควรกำหนดรู้สภาวะลักษณะของอธิโมกข์ว่า อาการที่เกิดขึ้นนี้มีเพียงรูปนามว่า เป็นสิ่งไม่เที่ยง ทนอยู่ไม่ได้ และไม่มีตัวตน เมื่อกำหนดรู้บ่อย ๆ มาก ๆ ด้วยสติสัมปชัญญะในรูปนามทางในทวารทั้ง ๖ คือ (๑) เวลาเห็นกำหนดว่า เห็นหนอ (๒) เวลาได้ยินเสียงกำหนดว่า ได้ยินหนอ (๓) เวลาได้กลิ่นกำหนดว่า กลิ่นหนอ (๔) เวลาลิ้มรสกำหนดว่า รสหนอ (๕) เวลาถูกต้องสัมผัสกำหนดว่า ถูกหนอ และ (๖) เวลาคิดกำหนดว่า คิดหนอ ก็จะข้ามพ้นสภาวะแห่งอธิโมกข์ไปได้
ดาวน์โหลด |