บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่อง “ศึกษามัชฌิมาปฏิปทาในมหาโคปาลสูตร”มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ เพื่อศึกษาหลักธรรมในมหาโคปาลสูตร เพื่อศึกษาหลักมัชฌิมาปฏิปทาในมหาโคปาลสูตร และ ศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนามหาโคปาลสูตร จากการศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฏก อรรถกถา ฏีกา คัมภีร์วิสุทธิมรรค และ ปกรณ์วิเสส ที่เกี่ยวข้องเรียบเรียงบรรยายตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ
จากการศึกษาพบว่า ในมหาโคปาลสูตรพระพุทธองค์ทรงเปรียบเทียบคนเลี้ยงโคผู้ไม่ฉลาดกับภิกษุไม่ฉลาด และ คนเลี้ยงโคผู้ฉลาดกับภิกษุผู้พัฒนาตนเอง โดยเปรียบเทียบด้วยองค์คุณ ๑๑ ประการ ข องภิกษุ คือ รู้จักมหาภูตรูป ๔ อุปาทยรูป ๒๔ รู้จักลักษณะคนพาล และ บัณฑิต บรรเทาทำให้อกุศลวิตกหมดสิ้นไป สำรวมอินทรีย์ ๖ มิให้เกิดขึ้น แสดงธรรมที่เล่าเรียนมาดีแล้วให้ผู้อื่นฟังโดยพิสดาร รู้จักจักเข้าไปหาภิกษุผู้เชี่ยวชาญในธรรมวินัยเพื่อศึกษาหาความรู้ต่อไปรู้อรรถรู้ธรรมเมื่อฟังธรรมจากผู้อื่น รู้จักอริยมรรคมีองค์ ๘ รู้ชัดสติปัฏฐาน ๔ รู้จักปริมาณในการบริโภค บูชาภิกษุเป็นเถระ เป็นรัตตัญญูบวชนาน เป็นสังฆบิดร เป็นสังฆปริณายกด้วยการบูชายิ่งคือ เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม และเมตตามโนกรรมไว้ในพระเถรผู้ใหญ่ทั้งต่อหน้า และ ลับหลัง
มัชฌิมาปฏิปทา ซึ่งเป็นทางสายกลางในอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นหลักธรรมที่สำคัญที่ปรากฏในมหาโคปาลสูตร เรียกว่าเป็นแนวทางการปฏิบัติเพื่อทำความสิ้นไปแห่งทุกข์ทั้งปวง มัชฌิมาปฏิปทา ได้ชื่อว่า อริยมรรค คือ หนทางปฏิบัติของพระอริยบุคคล ประกอบด้วยองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ โดยองค์ธรรมคือตัวปัญญา จัดเป็นปัญญาเจตสิกธรรม ส่วนมรรค ๗ ประการที่เหลือเป็นมรรคที่สนับสนุนให้เกิดสัมมาทิฏฐิ
การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในทางพระพุทธศาสนาหมายถึง การปฏิบัติในหลักสัมมาสติ คือการเจริญสติโดยชอบใน ๔ ฐานคือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือสติที่เข้าไปตั้งมั่นในกาย เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือสติที่เข้าไปตั้งมั่นในเวทนา จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือสติที่เข้าไปตั้งมั่นในจิตและธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือสติที่เข้าไปตั้งมั่นในธรรมทั้งหลาย การปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔ นี้ เป็นหนทางเดียวเท่านั้นที่ทำให้ภพ ชาติ และสังสารวัฏสิ้นไป
ดาวน์โหลด
|