หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระจิตตพัฒน์ โสภณปญฺโ (กิจจาณัฏฐ์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๐ ครั้ง
ศึกษาปรากฏการณ์ของโอภาสในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ตามหลักสติปัฏฐาน ๔
ชื่อผู้วิจัย : พระจิตตพัฒน์ โสภณปญฺโ (กิจจาณัฏฐ์) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(วิปัสนาภาวนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหากฤษณะ ตรุโณ, ผศ.ดร. ป.ธ.๓, พธ.บ.,M.A.,Ph.D
  พระมหาบุญเลิศ ธมฺมทสฺสี ป.ธ.๘, พธ.บ., พธ.ม.
  พระครูปลัดสัมพิพัฒนธรรมมาจารย์ ป.ธ.๘, พธ. บ.,พธ.ม.
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

                      วิทยานิพนธ์ เรื่อง ศึกษาปรากฏการณ์ของโอภาสในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาวิธีปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาตามหลัก       สติปัฏฐาน ๔ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาโอภาสที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท  และ (๓) เพื่อศึกษาปรากฏการณ์ของวิปัสสนูปกิเลสเฉพาะโอภาสในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔

การวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ  เน้นการวิจัยเอกสารโดยการศึกษาข้อมูลจากตำราพระพุทธศาสนาเถรวาทคือ พระไตรปิฎก  อรรถกถา ฎีกา  และคัมภีร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วรวบรวมข้อมูล  เรียบเรียง บรรยายเชิงพรรณนาและตรวจสอบความถูกต้อง โดยอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์และผู้เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาภาวนา

             ผลการวิจัยพบว่าโอภาสนี้อาศัยศรัทธาเป็นบ่อเกิดดุจดังเรื่องที่ได้ยกมาแสดงข้างต้นนั้น ความจริง            แสงสว่างหรือโอภาส  เป็นสิ่งที่คนมักเข้าใจผิดที่ไปพบเห็นกันในธรรมชาติว่าเป็นของวิเศษหรือบางคนนั่งสมาธิแล้วเห็นแสงต่างๆแล้วคิดว่าเป็นของดีของวิเศษคิดว่าตนเองเป็นผู้วิเศษที่ได้พบแสงสว่างดังกล่าว ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไม่ใช่โอภาสในทางวิปัสสนา  เพราะเป็นแสงสว่างที่เกิดจากความเชื่อที่งมงาย ไร้สาระ ไร้เหตุผล แต่แสงสว่างที่เป็นวิปัสสนานั้นเกิดจากความศรัทธาในเหตุผล อีกอย่างหนึ่งแสงสว่างที่เรียกว่าโอภาสนี้ต้องเกิดจากความศรัทธาในการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน  ๔ อย่างจริงจัง ตั้งแต่    วัน ๗  เดือน ๗  ปี ผลที่ได้รับในการเจริญสติปัฏฐาน ๔ หมวดธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในช่วงเกิดสภาวญาณทางปัญญาโดยเฉพาะญาณที่    อย่างอ่อนหรือเรียกว่า ตรุณอุทยัพพยญาณ ช่วงนี้เรียกว่าอารัทธวิปัสสนา ผู้เริ่มวิปัสสนา  ซึ่งในช่วงนี้จะพบสภาวธรรมแปลก ๆ  ๑๐  ประการ มีแสงสว่างเป็นต้น  ด้วยอำนาจแห่งปัญญาที่รู้แจ้งรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์อย่างช่ำชอง จึงทำให้ผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกวางเฉยในรูปนามเรียกว่า วิปัสส-นุเปกขา ถ้าบุคคลใดมีความยินดีพอใจในแสงสว่างเป็นต้นจนถึงความวางเฉยดังกล่าว ชื่อว่า  ทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง

                      ความสำคัญของโอภาสที่เกิดจากการปฏิบัติวิปัสสนาคือช่วยให้ค้นพบ ;วิปัสสนาญาณที่จริงเมื่อผ่านพ้นโอภาสไปแล้ว  ดังหลักฐานในคัมภีร์วิสุทธิมรรคว่า  วิปัสสนูปกิเลสย่อมไม่เกิดแก่พระอริยสาวกผู้ได้บรรลุมรรคผลแล้ว  แก่บุคคลผู้ปฏิบัติผิดทาง บุคคลผู้ทอดทิ้งกัมมัฏฐาน  และบุคคลผู้เกียจคร้านย่อหย่อนในการปฏิบัติ  แต่จะเกิดขึ้นเฉพาะแก่โยคีผู้ปฏิบัติอย่างยิ่งยวด  จนได้ชื่อว่า  อารัทธวิปัสสกะเท่านั้น

                      ในด้านการปฏิบัติวิปัสสนานั้นโอภาส เกิดจากการเจริญวิปัสสนาตามหลักสติปัฏฐาน เป็นการปฏิบัติที่เน้นสติเป็นใหญ่ในการกำหนดระลึกรู้รูปนามซึ่งเมื่อขยายออกไปแล้วได้แก่ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ และปฏิจจสมุปบาท ๑๒  ธรรมเหล่านี้เรียกว่า วิปัสสนาภูมิ หมายถึงอารมณ์ของวิปัสสนา ที่ชื่อว่า วิปัสสนา หมายถึงสภาวะการรู้แจ้งในอารมณ์ดังกล่าวโดยความเป็นของไม่เที่ยง  เป็นทุกข์ และ ไม่สามารถบังคับบัญชาได้  เมื่อผู้ปฏิบัติกำหนดรูปนามโดยความเป็นไตรลักษณ์ได้อย่างชัดเจนเช่น ขันธ์ ๕ โดยลักษณ์ ๕๐ อย่างตามหลักทางศาสนา ก็จะเกิดความเชื่อมั่นศรัทธาในแนวทางการปฏิบัติดังกล่าว โดยมีสติระลึกรู้อยู่ในรูปนามที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนาภาวนา ความศรัทธาในพระรัตนตรัยจึงจนพบสภาวะของโอภาสคือแสงสว่างอันเกิดจากความศรัทธาในแนวทางการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ คือ กาย เวทนา จิต และสภาวธรรม

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕