บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการคือ เพื่อศึกษาหลักธรรมในปาสราสิสูตรและเพื่อศึกษาการละกามคุณในปาสราสิสูตร โดยวิธีการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาทคือพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่นๆที่เกี่ยวข้อง เรียบเรียงบรรยายตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ
จากการศึกษาพบว่า ปาสราสิสูตร คือ พระสูตรที่เป็นการแสวงหาทางเดินของพระอริยะเจ้า และเป็นพระสูตรที่กล่าวเปรียบเทียบด้วยบ่วงดักสัตว์ และมีการเปรียบเทียบว่ากามคุณคือบ่วงดักสัตว์ใว้ในวัฏฏะสงสาร ยังมีการกล่าวถึงพุทธประวัติ ที่แสดงเนื้อหาตั้งแต่ตอนบำเพ็ญสมาบัติในสำนักอาฬารลดาบสและอุทกดาบส การตรัสรู้ ท้าวสหัมบดีพรหมอาราธนาให้แสดงธรรม ทรงพบอุปกาชีวกและแสดงธรรมโปรดปัญจวัคคีย์ จนถึงทรงแสดงวิธีปฏิบัติเพื่อละกามคุณ ๕ ด้วยหลักธรรม ๒ ประการคือสมถะและวิปัสสนาเพื่อที่จะละจากกามคุณ ๕ หลักธรรมที่ปรากฏ ในพระสูตร คือกามคุณ ๕ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ สมถะกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน
กามคุณ ๕ คือกองแห่ง รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัส ที่เปรียบเทียบด้วยบ่วงดักสัตว์ที่สงเคราะห์ เป็นวิปัสสนาภูมิ อันเป็นอารมณ์ที่เรียกว่า รูปนาม อันเป็นภูมิของวิปัสสนา ประกอบด้วยขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจจ์ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ ในการปฏิบัติเพื่อละกามคุณ ๕ พบว่า ละได้โดยการปฏิบัติ สมถะและวิปัสสนา โดยอาศัยการปฏิบัติตามแนวทางแห่งสติปัฏฐาน ๔ ในการอบรมจิตให้สงบและหลุดพ้นจากกิเลส โดยการพิจารณารูปนาม คือ ธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ ว่าตกอยู่ไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นสิ่งที่ไม่ควรยึดมั่นถือมั่นจนเกิดความเบื่อหน่ายและสามารถพิจารณาเพื่อละจากกามคุณ ๕ ได้
ดาวน์โหลด |