บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ เรื่อง “ศึกษาจิตตวิสุทธิในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา”ซึ่งมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนา ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาหลักจิตตวิสุทธิ กับแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา โดยการศึกษาค้นคว้าจากพระไตรปิฎก และอรรถกถา ฏีกา รวมทั้งข้อมูลจากเอกสารงานวิชาการที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาเรียบเรียง บรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบเนื้อหาความถูกต้องโดยอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ
ผลการวิจัยพบว่า การปฏิบัติวิปัสสนา เป็นหลักสำคัญในการนำตนให้พ้นจากทุกข์ อันเป็นทางสายเอก สายเดียวเท่านั้น อันมี สติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธรรมานุปัสสนา
จิตตวิสุทธิ (ความบริสุทธิ์แห่งจิต) หมายถึง การชำระจิตให้ปราศจากนิวรณ์ กล่าวโดยสรุป ได้แก่ ความบริสุทธิ์ของสมาธิ องค์ธรรมของจิตตวิสุทธิ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ในมหากุศลจิต มหากิริยา มหัคคตกุศล และ มหัคคตกิริยา จิตตวิสุทธิ นี้ ย่อมเกิดแก่พระโยคาวจร ที่เป็นผู้ฝักใฝ่ในการเจริญสมถะ เรียกว่า สมถยานิกะ และผู้เจริญวิปัสสนาล้วน เรียกว่า วิปัสสนายานิกะ
จิตตวิสุทธิ หรือสมาธิวิสุทธิ์ นั้น หมายถึง สมาธิขณะนั้นปราศจากนิวรณ์ มีกามฉันทนิวรณ์ เป็นต้น ไม่อาจอาศัยสมาธินั้นเป็นอารมณ์ได้ ได้แก่ เอกัคคตาเจตสิก ที่ตั้งอยู่ในอารมณ์ของสติปัฏฐาน หรือ นามธรรม รูปธรรม ที่เป็นปัจจุบันอารมณ์
การเจริญวิปัสสนาภาวนา โดยมีสมถะ เป็นบาท หรือ สมถยานิกะ นั่นเอง เป็นแนวทาง เพื่อให้เกิดจิตตวิสุทธิ โดยวิสุทธิมรรค อรรถกถาได้สงเคราะห์ สมาบัติ ๘ ว่าเป็น จิตตวิสุทธิ คือ ยกขึ้นสู่อารมณ์ของวิปัสสนาได้ คือ เป็นบาทของวิปัสสนาได้
ดาวน์โหลด |