บทคัดย่อ
การศึกษาสภาวะรูปนามในการปฏิบัติในหมวดสัมปชัญญะบรรพ สติปัฏฐานสูตรมีวัตถุประสงค์ ๒ ประการคือ เพื่อศึกษาสัมปชัญญะบรรพในหมวดกายานุปัสสนา สติปัฏฐานสูตร และศึกษาลักษณะสภาวะของรูปนาม ในการปฏิบัติหมวดสัมปชัญญะบรรพโดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา และฎีกา รวมทั้งข้อมูลจากเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาเรียบเรียงบรรยายตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ
จากการศึกษาวิจัยพบว่า หลักในหมวดสัมปชัญญะบรรพในสติปัฏฐานสูตรนั้น ก็คือหลักการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ซึ่งเป็นการฝึกให้มีสติกำหนดรู้ในอิริยาบถทุกๆอิริยาบถ มีการก้าวไป ถอยกลับ การแล การเหลียว การเหยียด การคู้ การนุ่งห่ม การฉัน การดื่ม การถ่ายอุจจาระและถ่ายปัสสาวะ การเดินเป็นต้น การกำหนดในอิริยาบถเหล่านี้เป็นการฝึกให้เกิดสัมปชัญญะ รู้เท่าทันอิริยาบถตามสภาพความเป็นจริง
สภาวะรูปในทางพระพุทธศาสนา หมายถึง สภาวะที่มีความแตกดับไป เมื่อกระทบกับวิโรธิและไม่สามารถรับรู้อารมณ์ใดๆได้เลย ในขันธ์ ๕ รูป หมายถึง รูปขันธ์ สภาวะของนาม หมายถึง สภาวะของจิตที่น้อมเข้าไปสู่อารมณ์ สามารถรับรู้อารมณ์ได้ ในขันธ์ ๕ นั้น รูปเป็นรูปขันธ์ เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็น นามขันธ์
ในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ตามหมวดสัมปชัญญะบรรพนั้น ในขั้นต้นแห่งการปฏิบัตินั้น ผู้ปฏิบัติจะเป็นการฝึกให้เกิดสติสัมปชัญญะ คือรู้ทันอิริยาบถตามสภาพความเป็นจริงเมื่อผู้ปฏิบัติมีสติกำหนดได้จดจ่อ ต่อเนื่องอย่างเท่าทันโดยละเอียดสมบูรณ์ทุกๆการเคลื่อนไหวในอิริยาบถต่างๆ การทำงานของสติในการพิจารณารูปและนามก็ปรากฏชัดตามลำดับของวิปัสสนาญาณซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติเห็นสภาวะที่เกิดขึ้นของรูปนามตามสภาพความเป็นจริงดังนั้นผู้ปฏิบัติจึงมีปัญญาเห็นรูปและนามนั้นล้วนตกอยู่ในอำนาจของไตรลักษณ์มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และเสื่อมสิ้นไป ผู้ปฏิบัติสามารถเห็นประโยชน์เห็นโทษของการเคลื่อนไหวอิริยาบถต่างๆเมื่อผู้ปฏิบัติมีปัญญาพิจารณารูปและนามอย่างนี้ผู้ปฏิบัติจะมีจิตบริสุทธิ์เป็นขั้นๆไปจนถึงบรรลุมรรคผลนิพพานได้ในที่สุด
โดยสรุปแล้ว อาการที่ปรากฏทางกายทั้งหมด เช่นอาการคู้ เหยียด เป็นต้นจัดเป็นรูป สภาวะที่เข้าไปรับรู้อาการนั้นๆ เรียกว่านาม ทั้งรูปและนามนี้ ล้วนตั้งอยู่ในไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา
ดาวน์โหลด |