บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่อง “ศึกษาปัญญาเจตสิกกับการพัฒนาสัมปชัญญะในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ เพื่อศึกษาหลักปัญญาและปัญญาเจตสิกธรรมในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาหลักสัมปชัญญะที่มาในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัญญาเจตสิกกับการพัฒนาสัมปชัญญะในการเจริญวิปัสสนาภาวนา โดยวิธีการเก็บข้อมูลจากคัมภีร์ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา วิสุทธิมรรค ปกรณ์ และตำรา ที่เกี่ยวข้อง : เรียบเรียงบรรยาย และตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ ผลการวิจัยพบว่า
ปัญญาเจตสิกธรรม คือ ธรรมชาติที่รู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงเมื่อว่าโดย ลักขณา ทิจตุกกะ คือ มีการรู้แจ้งซึ่งสภาวธรรม เป็นลักษณะ, มีการกำจัดความมืด (อโมหะ) เป็นกิจ, มีความไม่หลง (ติดอยู่) เป็นผล, มีสมาธิ เป็นเหตุใกล้ ปัญญามีประโยชน์ต่อการการบรรลุธรรมปัญญาทางพระพุทธศาสนาเป็นปัญญาขั้นสูงสุด คือ ปัญญาระดับภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่เข้าไปรู้ทุกข์หรือการกำหนดรู้ทุกข์ การไม่รู้ทุกข์จัดเป็นอวิชชา เพราะอวิชชา คือ ความไม่รู้ธรรมตามความเป็นจริง และทุกข์ตามพุทธประสงค์ ได้แก่ ทุกขสัจหรือทุกขอริยสัจ การกำหนดรู้ทุกข์ เพื่อละสมุทัย ทำนิโรธให้แจ้ง ทำมรรคให้เกิดขึ้น และบรรลุอริยสัจแจ้งพระนิพพานในที่สุด
สัมปชัญญะตรงกับภาษาบาลีว่า “สมฺปชาโน” คือ ความรู้สึกตัว เป็นความรู้สึกตัวขณะกำหนดรู้ชัดซึ่งอารมณ์รูปธรรมและนามธรรมที่เป็นปัจจุบัน ได้แก่ สัมปชัญญะ ๔ คือ ๑. สาตถกสัมปชัญญะ การกำหนดรู้ชัดซึ่งอารมณ์ที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์ ๒. สัปปายสัมปชัญญะ การกำหนดรู้ชัดซึ่งอารมณ์ที่เป็นสัปปายะ, ๓. โคจรสัมปชัญญะ การกำหนดรู้ชัดซึ่งอารมณ์กรรมฐาน, ๔. อสัมโมหะสัมปชัญญะ การกำหนดรู้ชัดซึ่งอารมณ์ทุกขณะโดยไม่หลงสัมปชัญญะมีความสำคัญมากต่อการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา เพราะความรู้สึกตัวของผู้ปฏิบัติมีมากยิ่งขึ้นเท่าไร ก็สามารถรับอารมณ์ปัจจุบันมากขึ้นเท่านั้น และประโยชน์ของปัจจุบันอารมณ์ ได้แก่ การทำลายอภิชฌาและโทมนัส การเจริญสติปัฏฐานนั้น จุดประสงค์อันสำคัญเพื่อทำลายอภิชาและโทมนัส
ความสัมพันธ์ระหว่างปัญญาเจตสิกกับการพัฒนาสัมปชัญญะในการเจริญวิปัสสนาภาวนานั้น อาตาปี สัมปชาโน สติมา หรือ ความเพียร สัมปชัญญะ สติ ทำหน้าที่พิจารณาอารมณ์กรรมฐาน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม (รูป-นาม) สัมปชาโน หรือสัมปชัญญะ มีองค์ธรรม ได้แก่ ปัญญาเจตสิก หรือ เป็นปัญญาที่ในสัมปชัญญะ ๔, ทำหน้าที่เป็นปัญญา ธรรมทั้งสามเมื่อสรุปลงแล้วคือ ศีล สมาธิ ปัญญา จะเห็นได้ว่าสัมปชัญญะและปัญญาเจตสิกเป็นธรรมอันเดียวกัน ด้วยอำนาจปัจจัยแล้วสัมปชัญญะก็ คือ ปัญญาเจตสิกแต่ยังมีกำลังอ่อนอยู่ เมื่อพัฒนาหรือมีกำลังแก่กล้าแล้ว จึงพัฒนามาเป็นปัญญา ดังนั้นสรุปได้ว่า สัมปชัญญะ เป็นชื่อของปัญญา คือ ความรู้สึกตัวที่เกิดขึ้นจากการกำหนดรู้รูปนามที่กำลังปรากฏอยู่เฉพาะหน้าเป็นอารมณ์ (อารมณ์ปัจจุบัน) ส่วนปัญญา คือ ธรรมชาติที่เห็นแจ้งตามสภาวธรรมตามความเป็นจริง ธรรมทั้งสองทำกิจหน้าที่เดียวกันคือ คือ รู้ปัจจุบัน, รู้รูปนาม, รู้พระไตรลักษณ์ รู้มรรค ผล นิพพาน
ดาวน์โหลด |