บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ คือ (๑) เพื่อศึกษาระดับการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรสำนักงานเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร (๒) เพื่อเปรียบเทียบการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรสำนักงานเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล และ (๓) เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรสำนักงานเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ดำเนินการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร จำนวน ๒๔๒ คน จากจำนวนประชากรทั้งหมด ๖๙๖ คน เครื่องมือที่ใช้การเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามการวัดระดับการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรสำนักงานเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร มีค่าความเชื่อมั่น (Reliability) ๐.๙๕๕ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการวิจัยทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ โดยการหาความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) และเปรียบเทียบการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรสำนักงานเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร วิเคราะห์โดย การทดสอบค่าที (t-test) และทดสอบค่าที (f-test) ด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way Analysis of Variance) ในกรณีที่พบความแตกต่างตั้งแต่ ๓ กลุ่มขึ้นไป โดยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD)
ผลการวิจัยพบว่า
๑. การปฏิบัติหน้าที่ตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรสำนักงานเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร โดยภาพรวม อยู่ในระดับมาก ( = ๔.๑๓) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าบุคลากรมีการปฏิบัติหน้าที่ ตามหลักอิทธิบาท ๔ ที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด ( = ๔.๑๙) ในด้านวิริยะ (ความขยันหมั่นเพียรในการปฏิบัติหน้าที่) และจิตตะ (ความเอาใจใส่ในการปฏิบัติหน้าที่) ส่วนที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ( = ๔.๐๖) ด้านวิมังสา (ความรอบคอบในการปฏิบัติหน้าที่)
๒. การเปรียบเทียบการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรสำนักงานเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร จำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล คือ เพศ อายุ ระดับการศึกษา ตำแหน่ง รายได้ต่อเดือน และระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง พบว่า ปัจจัยส่วนบุคคล มีผลทำให้การปฏิบัติหน้าที่ตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรสำนักงานเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ที่มีเพศ ระดับการศึกษา ตำแหน่ง และรายได้ต่อเดือน ต่างกัน มีการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักอิทธิบาท ๔ แตกต่างกัน จึงยอมรับสมมติฐานที่ตั้งไว้ ส่วนบุคลากรสำนักงานเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร ที่มีอายุ และระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง ต่างกัน มีการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักอิทธิบาท ๔ ไม่แตกต่างกัน จึงปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้
๓. ปัญหา อุปสรรคในการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักอิทธิบาท ๔ ของบุคลากรสำนักงานเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร คือ ปัญหา อุปสรรค ที่เกิดจากความพร้อมทางสภาวะจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไขเป็นอันดับแรก การมีทัศนคติที่ดีในเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนการมีหลักธรรมอิทธิบาท ๔ เป็นหลักธรรมใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน สำหรับ ข้อเสนอแนะการพัฒนาการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักอิทธิบาท ๔ มีดังนี้ การพัฒนาด้านฉันทะ เช่น ควรมีการปลูกจิตสำนึกความรักในงาน เห็นคุณค่าและประโยชน์จากการทำงาน รวมทั้งมอบหมายงานให้ตรงกับความรู้ความสามรถของบุคลากร, การพัฒนาด้านวิริยะ เช่น ควรมีทัศนะคติที่ดีในการทำงาน มีจิตสำนึกความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน อย่ามองปัญหาเป็นอุปสรรค์ถือการทำงานเป็นเรื่องท้าทาย, การพัฒนาด้านจิตตะ เช่น ควรมีการเอาใจใส่ในการปฏิบัติหน้าที่ เต็มที่กับงาน มีจิตสำนึกในหน้าที่ที่รับผิดชอบ และการพัฒนาด้านวิมังสา ผู้ปฏิบัติงานต้องมีสมาธิกับการทำงาน มีความรอบคอบ มีความรู้ในงานที่ทำ หมั่นเรียนรู้ในงานตลอดเวลา มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงานรู้จักทำงานเป็นทีม มีการพัฒนาตนเองให้มีความพร้อมต่อภาระงานอยู่เสมอ
ดาวน์โหลด |