หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาประเสริฐ หิตกฺกโร (สาหึงรัมย์)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๙ ครั้ง
การมีส่วนร่วมทางการเมืองของพระสงฆ์ไทยตามทัศนคติ ของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาประเสริฐ หิตกฺกโร (สาหึงรัมย์) ข้อมูลวันที่ : ๑๓/๐๘/๒๐๑๓
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ผศ.ดร.สุรพล สุยะพรหม ป.ธ.๔, พ.ม., พธ.บ., M.A., Ph.D. (Pol.Sc.)
  อาจารย์พระครูสังฆรักษ์เกียรติศักดิ์ กิตฺติปญฺโญ, ประโยค ๑ - ๒,น.ธ.เอก, พธ.บ. (เกียรตินิยมอันดับ ๑), ศศ.ม. (พัฒนาสังคม)
  ผศ.ดร.ธัชชนันท์ อิศรเดช พธ.บ., M.A., Ph.D. (Political Science)
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๕๕๕
 
บทคัดย่อ

 

                                                              บทคัดย่อ

 

                  การวิจัยเรื่องการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพระสงฆ์ไทยตามทัศนคติของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์ ๑)เพื่อศึกษาการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพระสงฆ์ไทยตามทัศนคติของพระนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ๒)เพื่อเปรียบเทียบทัศนคติของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่มีต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพระสงฆ์ไทยโดยจำแนกตามปัจจัยส่วนบุคคล ๓)เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมการมีส่วนร่วมทางการเมืองที่เหมาะสมของพระสงฆ์ไทยตามทัศนคติของนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย โดยจำแนกตามสถานภาพส่วนบุคคล รวมทั้งข้อเสนอแนะ ต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพระสงฆ์ไทย  ในการวิจัยครั้งนี้ ดำเนินการวิจัยโดยวิธีการเชิงสำรวจ (Survey Research) กับกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพระนิสิตในมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จำนวน ๓๐๗ รูป เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง โดยมีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ ๐.๙๐๑ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One way ANOVA) และทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเป็นรายคู่ด้วยวิธีผลต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด (Least Significant Difference : LSD)

 

ผลการวิจัยพบว่า

๑. นิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่มีทัศนคติต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพระสงฆ์ไทย โดยรวมอยู่ในระดับ ปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน    นิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่มีทัศนคติต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพระสงฆ์ไทย อยู่ในระดับปานกลางทุกด้าน

๒. ผลการเปรียบเทียบนิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่มีทัศนคติต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพระสงฆ์ไทย จำแนกตาม สถานภาพ อายุ จำนวนปีที่บวช ชั้นปีที่กำลังศึกษา และคณะที่ศึกษา พบว่า นิสิตมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย สถานภาพ อายุ จำนวนปีที่บวช ชั้นปีที่กำลังศึกษา และคณะที่ศึกษา ต่างกัน มีทัศนคติต่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพระสงฆ์ไทยโดยภาพรวม ไม่แตกต่างกันทุกด้าน ซึ่งปฏิเสธสมมติฐานที่ตั้งไว้

๓. ปัญหา อุปสรรค ในการมีส่วนร่วมทางการเมืองของพระสงฆ์ไทย คือ พระสงฆ์ถูกสังคมจำกัดสิทธ์ ไม่มีสิทธิที่จะทำหน้าที่ทางการเมือง ในด้านรูปแบบของความเป็นสมณะซึ่งจะแสดงออกโดยตรงไม่ได้ กฎหมายยังไม่รองรับให้ภิกษุสงฆ์มีส่วนร่วมทางการเมืองตามสิทธิพลเมืองในระบอบประชาธิปไตยอย่างชัดเจน

สำหรับข้อเสนอแนะ ควรมีกฎหมายที่ให้สิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างเหมาะสม พระสงฆ์ควรวางตัวเป็นกลางในการมีส่วนร่วมทางการเมืองต่อสาธารณะโดยให้ความรู้หลักธรรมที่สอดคล้องกับการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย

 

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕