หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระวัชรินท์ ปญฺญาวุโธ (ฉิมประเสริฐ)
 
เข้าชม : ๑๙๙๘๗ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์อิทธิพลของมรณสติต่อพฤติกรรมการทำงาน ศึกษาเฉพาะกรณีพยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยหนักในเขตกรุงเทพมหานคร (๒๕๔๖)
ชื่อผู้วิจัย : พระวัชรินท์ ปญฺญาวุโธ (ฉิมประเสริฐ) ข้อมูลวันที่ : ๒๐/๐๘/๒๐๑๐
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ
  ผศ.ดร.อ้อมเดือน สดมณี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๐ มีนาคม ๒๕๔๖
 
บทคัดย่อ

     งานวิจัยนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญอยู่ ๒ ประการ คือ ประการแรก เพื่อศึกษาหลักคำสอนเรื่องมรณสติตามทัศนะของพระพุทธศาสนาเถรวาท ประการที่ ๒ เพื่อศึกษาวิเคราะห์อิทธิพลของมรณสติ รวมไปถึงลักษณะทางพระพุทธศาสนา ลักษณธทางจิตสังคม และปัจจัยภูมิหลัง ที่มีผลต่อพฤติกรรมการทำงานของพยาบาลผู้ดูแลผู้ป่วยหนักในเขตกรุงเทพมหานคร

     การวิจัยเอกสารพบว่า หลักคำสอนเรื่องมรณสติสอนให้ระลึกถึงความตายที่จะต้องมีมาถึงตนเป็นธรรมดา พิจารณาให้ใจสงบจากอกุศกรรม เกิดความไม่ประมาทและไม่หวาดกลัว คิดเร่งขวนขวายทำความดีแก่ตนเองและสังคม

     การวิจัยภาคสนาม กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นพยาบาลวิชาชีพที่เป็นพุทธศาสนิกชนจากโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ และโรงพยาบาลสังกัดเอกชน ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน ๓๐๓ คน

     ตัวแปรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ แบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ ๑) ตัวแปรเกี่ยวกับลักษณะทางพระพุทธศาสนา ๓ ตัวแปร ได้แก่ ความเข้าใจเรื่องมรณสติ วิถีชีวิตแบบพุทธ และความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ๒) ตัวแปรเกี่ยวกับลักษณะทางจิตสังคม ๔ ตัวแปร ได้แก่ ความเชื่ออำนาจในตน สุขภาพจิต แหตุผลเชิงจริยธรรม และการสนับสนุนทางสังคม ๓) ตัวแปรด้านปัจจัยภูมิหลัง ๕ ตัวแปร ได้แก่ อายุ ระยะเวลาในการทำงาน สถานภาพสมรส ประสบการณ์ในการพยาบาลผู้ป่วยหนัก และสังกัดสถานที่ทำงาน ใช้การวิเคราะห์แบบสหสัมพันธ์ (Correlation) การวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบ ๒ ทาง (Two way Analysis of Variance) และการทดสอบความแตกต่าง (t-test) เพื่อทดสอบสมมติฐานที่ตั้งไว้ ๑๒ ข้อ

     ผลการวิจัยที่สำคัญมีดังนี้

     ๑) ลักษณะทางพระพุทธศาสนา ๓ ด้าน ได้แก่ ความเข้าใจเรื่องมรณสติวิถีชีวิตแบบพุทธ และความเชื่อทางพระพุทธศาสนาของพยาบาล มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการพยาบาลผู้ป่วยหนัก
     ๒) ลักษณะทางจิตสังคม ๒ ด้าน ได้แก่ ความเชื่ออำนาจในตน และการสนับสนุนทางสังคม มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการพยาบาลผู้ป่วยหนัก
     ๓) มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างความเข้าใจเรื่องมรณสติกับสุขภาพจิตที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการพยาบาลผู้ป่วยหนัก โดยพบว่า พยาบาลในกลุ่มที่มีสุขภาพจิตต่ำเหมือนกัน ถ้ามีความเข้าใจเรื่องมรณสติสูงจะมีพฤติกรรมการพยาบาลผู้ป่วยหนักที่สูงกว่าพยาบาลที่มีความเข้าใจเรื่องมรณสติต่ำ
     ๔) มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างความเข้าใจเรื่องมรณสติกับเหตุผลเชิงจริยธรรมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการพยาบาลผู้ป่วยหนัก โดยพบว่า พยาบาลในกลุ่มที่มีเหตุผลเชิงจริยธรรมต่ำเหมือนกัน ถ้ามีความเข้าใจเรื่องมรณสติสูงจะมีพฤติกรรมการพยาบาลผู้ป่วยหนักที่สูงกว่าพยาบาลที่มีความเข้าใจเรื่องมรณสติต่ำ
     ๕) ปัจจัยภูมิหลัง ๓ ด้าน ได้แก่ อายุ ระยะเวลาในการทำงาน และสังกัดสถานที่ทำงานของพยาบาลที่ต่างกัน ส่งผลให้มีพฤติกรรมการพยาบาลผู้ป่วยหนักแตกต่างกัน
 

Download : 254606.pdf
 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕